นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเตรียมความพร้อมรับมือรื้อฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป หรือเอฟทีเอไทย-อียู โดยเน้นความสำคัญในการหารือภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องเพื่อประเมินประโยชน์ที่จะได้รับและสิ่งที่ต้องปรับตัว นอกจากนี้ เตรียมใช้เวทีที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะทำงานด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทย – อียู ในกลางปี 2561 ซึ่งเป็นเวทีหารือสำคัญระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสที่จัดขึ้นเป็นประจำปีละครั้งโดยผลัดกันเป็นเจ้าภาพ เพื่อหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลกับอียูเรื่องนโยบายและพัฒนาการด้านกฎระเบียบการค้าการลงทุนที่เกิดขึ้นในช่วงที่การเจรจาหยุดชะงักด้วย เพราะในช่วงดังกล่าวทั้งสองฝ่ายอาจมีการปรับปรุงกฎระเบียบด้านการค้าการลงทุนที่เกี่ยวข้องที่ควรจะต้องทราบความคืบหน้าของกันและกัน เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาความเป็นไปได้ในการรื้อฟื้นการเจรจาภายหลังการเลือกตั้ง ซึ่งกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือเพื่อเตรียมการเรื่องนี้
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์) ได้ให้เอกอัครราชทูตแห่งสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยเข้าพบหารือ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2561 ณ กระทรวงพาณิชย์ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นางสาวชุติมา บุณยประภัศร) ได้พบหารือกับภาคธุรกิจยุโรปในช่วงการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน - กรรมาธิการยุโรปด้านการค้า ครั้งที่ 16 ระหว่างวันที่ 1 – 2 มีนาคม 2561 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ซึ่งได้มีการหยิบยกเรื่องที่คณะมนตรีการต่างประเทศแห่งสหภาพยุโรป เมื่อเดือนธันวาคม 2560 มีมติให้อียูฟื้นความสัมพันธ์และติดต่อทางการเมืองกับไทยได้ในทุกระดับ รวมถึงพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะสานต่อการเจรจาเอฟทีเอไทย – อียู ที่หยุดชะงักไปตั้งแต่ปี 2557 ถือเป็นสัญญาณที่ดีและภาคเอกชนยุโรปก็สนับสนุนเรื่องนี้และพร้อมที่จะช่วยผลักดันการกลับมาเจรจาเอฟทีเอระหว่างกัน
นางอรมน กล่าวเสริมว่า หลังการเจรจาเอฟทีเอไทย - อียู หยุดชะงักลงในปี 2557 มูลค่าการค้าระหว่างไทยและอียูลดลง แต่ในปี 2560 มูลค่าการค้าระหว่างสองฝ่ายกลับมาเพิ่มดีขึ้น โดยในปี 2560 มูลค่าการค้าไทย – อียู อยู่ที่ 44,302.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 โดยไทยส่งออกไปอียู คิดเป็นมูลค่า 23,700.2ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 และนำเข้าจากอียู 20,602 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 โดยไทยส่งออกสินค้าสำคัญ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ไก่แปรรูป และมีสินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบินและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ จึงคาดว่า การเจรจาเอฟทีเอน่าจะช่วยส่งผลทำให้การค้ารวม และการส่งออกของไทยไปอียูเติบโตเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่า การส่งออกจากไทยไปอียูน่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ในปี 2561 ซึ่งในการประเมินดังกล่าว ได้คำนึงถึงปัจจัยสำคัญ เช่น การรื้อฟื้นความสัมพันธ์ไทย – อียู และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอียูและการออกจากอียูของสหราชอาณาจักรหรือ Brexit เป็นต้น
ข่าวเด่น