ความต้องการใช้อะลูมิเนียมทั่วโลกมีแนวโน้มเติบโต4%CAGR ในช่วงปี 2018-2020 โดยมีการเติบโตของภาคก่อสร้างและการผลิตรถยนต์ในจีนเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สวนทางกับกำลังการผลิตที่คาดว่าจะหดตัวลงถึง 4 ล้านตัน หรือเทียบเท่า 7% ของกำลังการผลิตโลก จากสถานการณ์ดังกล่าวประเมินว่าราคาอะลูมิเนียมจะปรับตัวขึ้นราว 3%CAGRในช่วงปี 2018-2020
สำหรับไทย อีไอซีประเมินว่าการเติบโตของการผลิตรถยนต์ การก่อสร้างภาคเอกชน โดยเฉพาะโครงการคอนโดมิเนียมและอาคารสำนักงาน รวมถึงการขยายตัวของตลาดเบียร์ น้ำอัดลม และเครื่องดื่มชูกำลัง จะส่งผลให้ความต้องการใช้อะลูมิเนียมเติบโต 5%CAGR ในช่วงปี 2018-2020
ความผันผวนของราคาอะลูมิเนียม การขยายตัวของปริมาณการนำเข้าอะลูมิเนียมสำเร็จรูป และมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าอะลูมิเนียมของสหรัฐฯ เป็น 3 ปัจจัยที่ผู้ผลิตและผู้ใช้อะลูมิเนียม ควรติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานโดยตรง
ความต้องการใช้อะลูมิเนียมทั่วโลกมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องกว่าปีละ 4%CAGR ในช่วงปี 2018-2020 โดยมีการเติบโตของอุปสงค์ในจีนเป็นปัจจัยสนับสนุนหลัก หากกล่าวถึงโลหะที่นิยมใช้กันมากในภาคอุตสาหกรรม แน่นอนว่าคนทั่วไปย่อมนึกถึงเหล็กเป็นลำดับแรก เนื่องจากเหล็กเป็นวัสดุที่สามารถประยุกต์ใช้งานได้หลากหลายและมีราคาที่ไม่สูงเกินไปนัก อย่างไรก็ตาม ด้วยคุณสมบัติที่โดดเด่นของอะลูมิเนียม ทั้งน้ำหนักที่เบากว่าเหล็ก เมื่อเปรียบเทียบที่ความแข็งแรงเท่ากัน และความต้านทานต่อการกัดกร่อนที่ระดับสูง ทำให้อะลูมิเนียมถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางขึ้นในหลายอุตสาหกรรม เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ กรอบหน้าต่างสำหรับอุตสาหกรรมก่อสร้าง และภาชนะบรรจุอาหารและเครื่องดื่มสำหรับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น
ตั้งแต่ปี 2011 ความต้องการใช้อะลูมิเนียมทั่วโลกได้ขยายตัวมากกว่า 40% มาอยู่ที่ 63ล้านตันในปี 2017 ซึ่งกว่า 80% ของความต้องการใช้งานที่มากขึ้นเป็นการเติบโตในจีนเป็นหลัก ทั้งนี้ อีไอซีคาดการณ์ว่าแนวโน้มการขยายตัวของการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและอาคารสำนักงานในจีน รวมถึงการเพิ่มขึ้นของปริมาณการผลิตรถยนต์จีน จะเป็นปัจจัยสนับสนุนหลักให้การใช้อะลูมิเนียมทั่วโลกขยายตัวได้ 4%CAGR ในช่วงปี 2018-2020
อย่างไรก็ตาม อุปทานส่วนเกินที่เกิดขึ้นจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของกำลังการผลิตในจีน ได้ผลักดันให้รัฐบาลจีนออกมาตรการลดกำลังการผลิต ซึ่งอาจทำให้ราคาอะลูมิเนียมปรับตัวสูงขึ้น กำลังการผลิตอะลูมิเนียมที่เติบโตเร็วกว่าความต้องการใช้งานส่งผลให้อุปทานส่วนเกินของจีนเพิ่มขึ้นจาก 0.9 แสนตันในปี 2011 เป็น 1.3 ล้านตันในปี 2017 โดยรัฐบาลจีนได้พยายามแก้ไขปัญหาด้วยมาตรการสั่งปิดโรงงานผลิตอะลูมิเนียมที่ผิดกฎหมาย (Document 656) และการควบคุมกำลังการผลิตของอุตสาหกรรมหนัก (Policy 2+26)เช่น ถ่านหิน เหล็ก รวมถึงอะลูมิเนียมในปักกิ่ง เทียนจิน และอีก 26 เมือง ในช่วงฤดูหนาว (พ.ย.-มี.ค.) ของปี โดยผลของทั้งสองมาตรการจะทำให้กำลังการผลิตอะลูมิเนียมของจีนลดลงถึง 4 ล้านตัน หรือราว 7% ของกำลังการผลิตโลก ซึ่งอีไอซีประเมินว่าภายใต้สถานการณ์ที่ อุปสงค์มีแนวโน้มขยายตัวสวนทางกับการหดตัวของอุปทาน จะส่งผลให้ราคาอะลูมิเนียมมีแนวโน้มสูงขึ้น 3%CAGR ในช่วงปี 2018-2020
สำหรับประเทศไทย อีไอซีประเมินว่าความต้องการใช้อะลูมิเนียมมีแนวโน้มขยายตัว 5%YOY ขึ้นไปอยู่ในระดับเกินกว่า 1 ล้านตัน ในปี 2018 และเติบโตต่อเนื่องในระยะกลาง โดยมีแรงขับเคลื่อนจาก 3อุตสาหกรรมหลักซึ่งใช้อะลูมิเนียมกว่า 80% ของทั้งประเทศ ประกอบด้วย 1)อะลูมิเนียมในอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่มีแนวโน้มขยายตัวตามการเพิ่มขึ้นของปริมาณการผลิตรถยนต์เพื่อตอบสนองการฟื้นตัวของกำลังซื้อทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ ประกอบกับสัดส่วนการใช้อะลูมิเนียม (aluminium content) ที่มากขึ้นในรถยนต์แต่ละคัน เพื่อลดน้ำหนักและเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ 2) อะลูมิเนียมในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ที่คาดว่าจะขยายตัวตามการเพิ่มขึ้นของโครงการคอนโดมิเนียมตามแนวก่อสร้างรถไฟฟ้า และโครงการอาคารสำนักงานเพื่อรองรับความต้องการเข้าใช้ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ความต้องการใช้กรอบอะลูมิเนียมสำหรับงานกระจกอาคาร แผ่นอะลูมิเนียมสำหรับงานฝ้าเพดาน รวมถึงอะลูมิเนียมคอมโพสิตสำหรับงานหุ้มผนัง (façade) ขยายตัวตามไปด้วย และ 3) อะลูมิเนียมในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ที่มีแนวโน้มเติบโตตามการขยายตัวของตลาดเบียร์ น้ำอัดลม และเครื่องดื่มชูกำลังในประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องให้ความต้องการใช้อะลูมิเนียมสำหรับการผลิตกระป๋องเติบโตขึ้นตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม ความผันผวนของราคาและการขยายตัวของการนำเข้าอะลูมิเนียมสำเร็จรูปเป็นปัจจัยที่ผู้ผลิตและผู้ใช้อะลูมิเนียมต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของผู้ประกอบการโดยตรง ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของราคาอะลูมิเนียมกับราคาเหล็กที่มีความผันผวนมากในช่วงที่ผ่านมา อีไอซีพบว่าราคาอะลูมิเนียมมีการเคลื่อนไหวขึ้นลงโดยเฉลี่ยเดือนละ 4%MOM ขณะที่ราคาเหล็กเคลื่อนไหวขึ้นลงโดยเฉลี่ย 5%MOM สะท้อนถึงความผันผวนของราคาที่ไม่แตกต่างกันมากนัก นอกจากนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ไทยมีการนำเข้าอะลูมิเนียมสำเร็จรูปที่ขยายตัวเร็วกว่าการนำเข้าวัตถุดิบอย่างอะลูมิเนียมที่ยังไม่ขึ้นรูป และเศษอะลูมิเนียมถึง 2 เท่า แสดงให้เห็นแนวโน้มการแข่งขันที่จะรุนแรงมากขึ้นระหว่างผู้ผลิตอะลูมิเนียมไทยกับสินค้านำเข้าราคาถูก โดยเฉพาะจากจีนที่มีข้อได้เปรียบด้านกำลังการผลิตที่สูงถึง 50% ของโลก จึงทำให้อุตสาหกรรมอะลูมิเนียมจีนได้รับประโยชน์จาก economies of scale ในระดับสูง นอกจากนี้ ผู้ผลิตอะลูมิเนียมสำเร็จรูปของจีนยังได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลผ่านการคืนอากรส่งออก (export tax rebate) ในอัตรา 13-15% จึงทำให้ราคานำเข้าอะลูมิเนียมสำเร็จรูปจากจีนต่ำกว่าอะลูมิเนียมที่ผลิตในไทยได้ถึง 10-30%
ขณะที่มาตรการขึ้นภาษีนำเข้าอะลูมิเนียมของสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะทำให้ปริมาณอะลูมิเนียมไหลเข้าไทยมากขึ้น แต่การส่งออกอะลูมิเนียมของไทยในภาพรวมอาจไม่รับผลกระทบมากนัก โดยอะลูมิเนียมที่ยังไม่ขึ้นรูปจากรัสเซียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมถึงอะลูมิเนียมแผ่นและอะลูมิเนียมฟอยล์จากจีน เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความเป็นไปได้ที่จะไหลเข้ามาไทยมากขึ้นเนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการส่งออกมายังไทยอยู่แล้ว ขณะที่ผลกระทบทางตรงนั้น อีไอซีประเมินว่า มาตรการขึ้นภาษีจะไม่กระทบต่อการส่งออกอะลูมิเนียมของไทยในภาพรวมนัก เนื่องจากไทยมีการส่งออกอะลูมิเนียมไปยังสหรัฐฯ เพียงปีละ 4 หมื่นตัน หรือราว9% ของปริมาณส่งออกอะลูมิเนียมทั้งหมดซึ่งคิดเป็นมูลค่าเพียง 7.6 พันล้านบาทเท่านั้น
ผู้ประกอบการควรวางแผนการใช้กำลังการผลิตเพื่อรองรับการเติบโตของ อุปสงค์อะลูมิเนียมในอนาคต โดยเฉพาะกรอบอะลูมิเนียมสำหรับงานก่อสร้าง และแผ่นอะลูมิเนียมซึ่งเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตกระป๋อง ทั้งนี้ เพื่อตอบสนองคำสั่งซื้อที่คาดว่าจะขยายตัวขึ้น ผู้ประกอบการที่มีกำลังการผลิตไม่มากพอควรพิจารณาการลงทุนขยายกำลังการผลิต หรือพิจารณาการนำเข้าผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปมาจัดจำหน่ายเพื่อตอบสนองความต้องการที่ขยายตัวขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงจากการผันผวนของราคา แม้ทิศทางราคาอะลูมิเนียมจะอยู่ในขาขึ้น แต่แน่นอนว่าในระหว่างปีราคาอะลูมิเนียมจะผันผวนตามการเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์และอุปทาน รวมถึงแรงเก็งกำไร ณ เวลานั้นๆ การจับคู่คำสั่งซื้อ และการบริหารสินค้าคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถลดความเสี่ยงที่จะเกิดการขาดทุนจากการเปลี่ยนแปลงของราคาอะลูมิเนียมได้ (stock loss)
ข่าวเด่น