กระทรวงพาณิชย์ ย้ำ!!! นโยบายชัดเจนส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ เน้นการอำนวยความสะดวกภาคธุรกิจเป็นหลัก จับมือกันเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ แจง...การทบทวนกฎหมายฯ ต่างด้าวเป็นภารกิจตามกฎหมายที่ต้องทบทวนทุกปีเพื่อให้มีความทันสมัยสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน โดยใช้หลักผ่อนคลายมากกว่าการควบคุม ขณะเดียวกันต้องยึดมั่นต่อการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้วย เพื่อให้สอดรับกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาล พร้อมเดินหน้าตรวจสอบนอมินีอย่างต่อเนื่องและจริงจัง หวัง! สร้างธุรกิจสีขาว และสร้างความน่าเชื่อถือแก่นักลงทุนทั้งไทยและเทศ
นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายชัดเจนในด้านการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเน้นการอำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจเป็นหลัก ทำให้ง่ายต่อการเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ลดปัญหาอุปสรรคต่างๆ ลดขั้นตอนและระยะเวลาในการประกอบธุรกิจ เพื่อให้เกิดบรรยากาศที่ดีต่อการลงทุน และช่วยสนับสนุนให้เป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ดี ได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน”
“สำหรับความกังวลใจของนักลงทุนชาวต่างชาติเกี่ยวกับการแก้ไข พ.ร.บ.ต่างด้าวฯ นั้น กรมฯ ขอชี้แจงว่าขณะนี้ พ.ร.บ.ต่างด้าวฯ อยู่ในระหว่างการศึกษาผลกระทบทั้งระยะสั้น และระยะยาว ปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจโดยรวม รวมทั้งข้อดีข้อเสียต่างๆ ซึ่งยังเป็นแค่จุดเริ่มต้นของการศึกษาฯ เท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามหากจะมีการแก้ไขปรับปรุงก็จะไม่กระทบต่อนักลงทุนรายเดิม รวมทั้งต้องสร้างความสมดุลระหว่างการทำธุรกิจของนักลงทุนต่างชาติกับการปกป้องคุ้มครองธุรกิจของคนไทย ทั้งนี้ กรมฯ จะรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ก่อนนำมาวิเคราะห์และนำเสนอภาพรวมแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ต่อไป ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 กำหนดให้มีการทบทวนกฎหมายที่อยู่ในการกำกับดูแล และบัญชีท้าย พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 จะทบทวนเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว เพื่อให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน”
อธิบดีฯ กล่าวต่อว่า “กรมฯ คำนึงถึงนักลงทุนชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นอย่างมาก แสดงถึงความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศ ดังนั้น การทบทวน พ.ร.บ.ต่างด้าวฯ กรมฯ จึงคำนึงถึงเป้าหมายหลัก 4 ประการ ได้แก่ (1) ส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ (2) ลดขั้นตอนการประกอบธุรกิจของคนต่างชาติ (3) อำนวยความสะดวกทางการค้าการลงทุน และ (4) ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจรายเดิม รวมถึงการออกมาตรการต่างๆ จะใช้หลักผ่อนคลายมากกว่าการควบคุม ขณะเดียวกันต้องยึดมั่นต่อการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมการลงทุนของกระทรวงพาณิชย์และของรัฐบาล โดยกรมฯ ก็จะใช้วิธีการบริหารจัดการเพื่อให้การทำธุรกิจของชาวต่างชาติมีความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เช่น ลดขั้นตอนการออกหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เป็นต้น”
นอกจากนี้ กรมฯ จะยังคงเดินหน้าในการตรวจสอบตัวแทนอำพราง หรือ นอมินี อย่างต่อเนื่องและจริงจัง เพื่อสร้างธรรมาภิบาลแก่ภาคธุรกิจ และหวังให้ภาคธุรกิจเป็นธุรกิจสีขาวที่สามารถสร้างความน่าเชื่อถือและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่ภาคธุรกิจโดยรวมของประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ รองรับการเปิดการค้าเสรีที่อัตราการแข่งขันอย่างรุนแรงจากทั่วทุกมุมโลก” อธิบดีกล่าวทิ้งท้าย
ข่าวเด่น