เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ เรื่อง สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนส่อแววปะทุ หลังสหรัฐฯ เล็งขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน


เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2018 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ลงนามใน presidential memorandum มีคำสั่งให้สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (U.S. Trade Representative: USTR) พิจารณาเก็บภาษีนำเข้า (import tariff) ที่อัตรา 25% สำหรับสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่ารวมราว 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่าราว 2.5% ของการนำเข้าทั้งหมดของสหรัฐฯ หรือ 11.4% ของการนำเข้าจากจีนในปี 2017 ทั้งนี้ USTR จะต้องนำเสนอรายชื่อสินค้าที่จะถูกเก็บภาษีภายใน 15 วันหลังจากนี้

คำสั่งดังกล่าวเป็นผลมาจากการตรวจสอบการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของจีน ตามมาตรา 301 ของกฎหมายการค้าสหรัฐฯ (Trade Act of 1947)ที่ได้เริ่มตรวจสอบมาตั้งแต่ 18 สิงหาคม 2017 ทั้งนี้ จากการตรวจสอบดังกล่าว USTR ระบุว่าทางการจีนได้มีพฤติกรรมและมีนโยบายที่ก่อให้เกิดการถ่ายโอนเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ให้กับจีนและก่อให้เกิดการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งส่งผลเสียต่อการค้าของสหรัฐฯ โดยพฤติกรรมดังกล่าวได้แก่ 1) การบังคับใช้ข้อจำกัดในการลงทุนซึ่งกดดันให้บริษัทสหรัฐฯ ต้องถ่ายโอนเทคโนโลยีเพื่อแลกกับการเข้าไปลงทุนในจีน 2) การเลือกปฏิบัติในการออกใบอนุญาตอย่างไม่เป็นธรรมเพื่อกดดันให้เกิดการถ่ายโอนเทคโนโลยี 3) ทางการจีนสนับสนุนการเข้าซื้อกิจการในสหรัฐฯ ซึ่งนำไปสู่การครอบครองเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญา และ 4) ทางการจีนสนับสนุนการบุกรุกทางไซเบอร์ (cyber intrusion) เพื่อเข้าถึงเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของสหรัฐฯ ซึ่งมีข้อมูลความลับทางธุรกิจมูลค่ามหาศาล

 

 

 

 

อีไอซีมองว่าสินค้าเทคโนโลยีเป็นหนึ่งในสินค้าที่มีความเสี่ยงถูกเก็บภาษีมากที่สุด จากรายงานเบื้องต้นของ USTR ระบุว่าสินค้าที่อาจถูกเสนอให้เก็บภาษี ได้แก่ อากาศยาน สินค้า ไอทีและการสื่อสาร (information and communication technology) และเครื่องจักร อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ว่ารายการสินค้าที่จะถูกเปิดเผยในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้อาจมีมากกว่าที่ระบุในรายงานดังกล่าว โดยอีไอซีมองว่าสินค้าเทคโนโลยี อาทิ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นหมวดที่มีความเสี่ยงจะอยู่ในรายชื่อสินค้าที่ถูกเก็บภาษีมากที่สุด เนื่องจากเป็นสินค้าที่สหรัฐฯ มีการขาดดุลการค้ากับจีนมากที่สุดมูลค่าสูงราว 1.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2017 และยังเป็นสินค้าที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนตามนโยบาย Made in China 2025นอกจากนี้ สินค้าที่มีการขาดดุลสูงรองจากหมวดดังกล่าว ได้แก่ เครื่องจักร เฟอร์นิเจอร์ ของเล่น เป็นต้น ทั้งนี้ หากมูลค่าสินค้าที่ถูกเก็บภาษีมีมูลค่าไม่เกิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามที่ทรัมป์ประกาศก็มีแนวโน้มว่าจะมีสินค้าไม่กี่ประเภทเท่านั้นที่จะถูกเก็บภาษี

นอกเหนือจากการเก็บภาษีนำเข้า สหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มออกมาตรการจำกัดการลงทุนของจีน โดยทรัมป์ยังได้มอบหมายกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ (Treasury Department) พิจารณาออกมาตรการควบคุมการลงทุนจากจีนภายใน 60 วัน โดยมีเป้าหมายเพื่อยับยั้งการลงทุนและการเข้าซื้อบริษัทสหรัฐฯ จากจีนที่ทำให้เกิดการถ่ายโอนเทคโนโลยีหรือการได้ครอบครองเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ โดยอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงถูกจำกัดการลงทุนโดยสหรัฐฯ คืออุตสาหกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนตามนโยบาย Made in China 2025 ที่ต้องการทดแทนสินค้านำเข้าจากต่างประเทศด้วยการผลิตเองในจีนซึ่งอาจต้องนำเทคโนโลยีมาจากต่างประเทศ อาทิ สินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง สินค้าพลังงานทดแทน สินค้าด้านสุขภาพสมัยใหม่ และชิ้นส่วนอากาศยาน เป็นต้น

เบื้องต้น ทางการจีนออกมาตอบโต้ เล็งเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ กว่า 128 รายการ มีมูลค่ารวมกว่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสินค้าสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มถูกเก็บภาษีได้แก่ ท่อเหล็ก ผลไม้ และไวน์ที่อัตรา 15% และเนื้อหมูและอลูมิเนียมรีไซเคิลที่อัตรา 25%

อีไอซีมองทางการจีนสามารถเลือกใช้มาตรการเพื่อตอบโต้นโยบายกีดกันทางการค้าจากสหรัฐฯ ได้หลากหลาย โดยสามารถสรุปออกมาได้ 3 ทางเลือกตามระดับความตึงเครียดและความรุนแรงของผลของทางเลือก ซึ่งจะนำไปสู่สงครามการค้าได้ทั้งสิ้น ดังนี้

1)      การขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ และการให้สิทธิพิเศษทางการค้าการลงทุนกับประเทศคู่ค้าอื่นๆ โดยยกเว้นไม่ให้สหรัฐฯ ได้รับประโยชน์ สำหรับแผนการขึ้นภาษีนำเข้า ตอนนี้ จีนยังคงเลือกใช้การขึ้นภาษีเฉพาะรายหมวดและผลิตภัณฑ์(product-specific) เช่น สินค้าหมวดเกษตรของสหรัฐฯ มากกว่าการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าทุกประเภทจากสหรัฐฯ (across theboard) และยังคงจำกัดอยู่เฉพาะการตอบโต้ด้วยมาตรการทางภาษี (tariff measure) อยู่ ในอีกด้านจีนสามารถเลือกให้สิทธิประโยชน์ทางการค้ากับประเทศอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของสหรัฐฯ เช่น สหภาพยุโรป เป็นต้น เพื่อสร้างพันธมิตรและความสัมพันธ์เพื่อต่อรองกับสหรัฐฯ รวมถึงการจำกัดสิทธิผลประโยชน์ที่จะให้กับสหรัฐฯ ได้ อาทิ การลดภาษีสินค้านำเข้าเพิ่มเติมและเพิ่มปริมาณนำเข้าจากประเทศพันธมิตรแทนการนำเข้าจากสหรัฐฯ ซึ่งรวมไปถึงการเปิดเสรีภาคบริการในหลายด้าน เช่น ภาคการเงิน การศึกษา สุขภาพ ที่อาจปิดกั้นไม่ให้บริษัทสหรัฐฯ เข้าถึงตลาดผู้บริโภคชาวจีนได้ เป็นต้น

2)      การจำกัดขอบเขตรวมถึงสร้างความยากลำบากต่อธุรกิจสหรัฐฯ ที่ดำเนินธุรกิจในจีน รวมถึงลดจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่จะเดินทางเข้าสหรัฐฯ ตัวอย่างธุรกิจ เช่น บริษัท General Motors ที่มีกิจการร่วมค้า (joint venture) และทำตลาดอยู่ในจีนที่แม้จะมียอดขายรถทั่วโลกในไตรมาส 4 ปี 2017 ลดลง แต่กลับมียอดขายเฉพาะในจีนที่เพิ่มขึ้น บริษัทและธุรกิจสหรัฐฯ ในหลายๆ อุตสาหกรรมที่ดำเนินธุรกิจอยู่ในจีนอาจตกอยู่ในภาวะลำบาก หากสถานการณ์สงครามการค้าตึงเครียดขึ้นถึงขั้นจีนเริ่มใช้มาตรการกำจัดสิทธิ์ รวมไปถึงการรณรงค์ต่อต้านการเดินทางเข้าสหรัฐฯ จากทางการจีน นักท่องเที่ยวจีนซึ่งมียอดค่าใช้จ่ายเบ็ดเสร็จในการท่องเที่ยวรวมมูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี จะสร้างผลกระทบต่อธุรกิจในสหรัฐฯ ได้โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวหากทางการจีนเริ่มรณรงค์ต่อต้านสหรัฐฯ ดังที่เคยเกิดเหตุการณ์คล้ายกันกับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้มาแล้วในอดีต เหล่านี้นับว่าเป็นหนึ่งในมาตรการตอบโต้ที่ไม่ใช่ภาษี (non-tariff measure) ที่ทางการจีนเลือกใช้ได้

3)      การลดการถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ทางการจีนสามารถตอบโต้มาตรการทางการค้าจากสหรัฐฯ ทางอ้อมได้โดยสร้างแรงกระเพื่อมผ่านตลาดการเงินได้โดยการเทขายสินทรัพย์ที่อยู่ในรูปของดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุตั้งแต่10 ปีขึ้นไปและหันไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลของประเทศพันธมิตรอื่นแทน เพื่อสร้างแรงกดดันต่ออัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯ ให้เร่งตัวสูงเร็วขึ้น สร้างแรงกดดันต่อรัฐบาลสหรัฐฯ ในการกู้ยืมในอนาคตจากภาระดอกเบี้ยระยะยาวที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจากข้อมูลของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ หน่วยงาน Treasury International Capital (TIC) รายงานว่า จีนได้ถือตราสารหนี้ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ออกเพื่อใช้ระดมทุน (US treasuries) รวมมูลค่ากว่า 1.18 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เดือนธ.. 2017 ซึ่งการเทขายสินทรัพย์ของสหรัฐฯ โดยทางการจีนหากกระทำโดยฉับพลันและขายพันธบัตรออกมาจำนวนมากอาจสร้างความผันผวนให้กับตลาดพันธบัตรของสหรัฐฯ ได้สูง

ตลาดการเงินตอบสนองรุนแรง ท่ามกลางความกังวลว่าจะเกิดสงครามการค้า (Trade War) ภายหลังการลงนามของทรัมป์และการออกมาประกาศเตรียมพร้อมตอบโต้ของจีน ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดตลาดลดลงจากวันก่อนหน้า โดยดัชนี S&P 500 ลดลง2.5% ดัชนี Nasdaq ลดลง 2.4% และดัชนี Dow Jones ลดลง 2.9%นอกจากนี้ ดัชนี VIX index ซึ่งสะท้อนความผันผวนของตลาดการเงินก็ปรับสูงขึ้นกว่า 5.5 จุดไปอยู่ที่ระดับ 23.5 นอกจากนี้ ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงเล็กน้อยในช่วงเช้าวันนี้ สวนทางกับค่าเงินเยนซึ่งถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (safe haven) ที่แข็งค่าขึ้นถึงระดับต่ำสุดในรอบกว่า 17 เดือน

อีไอซีมองการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนของสหรัฐฯ ในรอบนี้มีเหตุผลเชิงนัยทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง ในด้านเศรษฐกิจ ทรัมป์ต้องการที่จะลดการขาดดุลการค้ากับจีนให้ได้มากที่สุดเพราะจีนมีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูงที่สุดซึ่งเป็นมูลค่าราว 3.7 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2017 จึงใช้เหตุผลการค้าที่ไม่เป็นธรรมและการขาดดุลสูงเป็นข้อต่อรองกับจีน ในขณะที่เหตุผลด้านการเมืองมีเหตุปัจจัยทั้งภายในและนอกสหรัฐฯ โดยเหตุปัจจัยภายในสหรัฐฯ ทรัมป์ได้วางแผนขึ้นภาษีนำเข้าต่อจีนเพื่อรักษาสัญญาที่เคยให้ไว้ตอนช่วงหาเสียงในปี 2016รวมถึงต้องการรักษาฐานเสียงของตนก่อนการเลือกตั้งกลางปี (mid-term election) ช่วงเดือน .. 2018 ปีนี้ นอกจากนี้ ยังมองเป็นเกมการเมืองระหว่างชาติมหาอำนาจได้ เนื่องจากการขึ้นภาษีนำเข้ารอบนี้เจาะจงเฉพาะสินค้าจีนโดยตรง และทรัมป์ยังกล่าวว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นและยังมีแนวโน้มที่จะออกมาตรการเพิ่มเติมได้อีกในอนาคต ทั้งที่นโยบาย safeguard tariff ของสหรัฐฯ ก่อนหน้า อาทิ การเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียม ท้ายสุดแล้วสหรัฐฯ ก็ได้มีการพิจารณาผ่อนผันลงโดยยกเว้นภาษีให้สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย บราซิล อาร์เจนตินา และเกาหลีใต้ได้ชั่วคราว เหล่านี้มองได้ว่าทรัมป์พยายามสร้างสมดุลให้กับการเมืองภายในเพื่อรักษาฐานคะแนนของตน พร้อมกับพยายามรักษาพันธมิตรทางการค้าระหว่างประเทศเดิม เช่น สหภาพยุโรป แคนาดา เม็กซิโก เป็นต้น เพื่อสร้างอำนาจต่อรองกดดันจีนในสงครามการค้าและจิตวิทยาได้อย่างสมดุล

สินค้าไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐฯ และจีน อาจได้รับผลกระทบหากมีการเก็บภาษีสินค้าจากจีน โดยเฉพาะสินค้าที่ไทยส่งออกไปจีนเพื่อใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตและจีนได้ส่งออกต่อไปยังสหรัฐฯ เป็นสินค้าขั้นสุดท้าย ซึ่งอีไอซีพบว่าสินค้าที่มีสัดส่วนสำคัญของการส่งออกไทย อยู่ในห่วงโซ่อุปทานดังกล่าว และมีความเสี่ยงจะถูกเก็บภาษี ได้แก่ 1) สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ แผงวงจรไฟฟ้ากล้องถ่ายรูป, LCD, อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และ CPU (มีสัดส่วนรวม 23% ของการส่งออกจากไทยไปจีนทั้งหมด) ซึ่งจีนใช้สินค้าดังกล่าวในผลิตโทรศัพท์มือถือ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ และ CPU เพื่อส่งออกต่อไปยังสหรัฐฯ และ 2)พลาสติกขั้นพื้นฐาน (สัดส่วน 10% ของการส่งออกจากไทยไปจีนทั้งหมด)ซึ่งเป็นสินค้าที่ทางจีนใช้ผลิตของเล่นและผลิตภัณฑ์พลาสติกไปยังสหรัฐฯ(รูปที่ 1) ทั้งนี้ จีนอาจนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากไทยน้อยลงเนื่องจากจีนส่งออกไปยังสหรัฐฯ ได้น้อยลง

จับตาต่อเนื่องถึงรายละเอียดการเก็บภาษีที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงรวมถึงผ่อนผันได้ในอนาคต จากการที่ทาง USTRจะประกาศรายชื่อสินค้าที่จะถูกเก็บภาษีในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้ ก็ยังมีความเป็นไปว่ารายชื่อดังกล่าวอาจถูกเปลี่ยนแปลงได้หลังจากนั้น เนื่องจากทางสหรัฐฯ ยังให้เวลารับฟังความเห็นจากประชาชนอีก 30 วันหลังจากรายชื่อสินค้าถูกเปิดเผย เพื่อที่จะทำการทบทวนและออกมาตรการเก็บภาษีอย่างเป็นทางการต่อไป ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าภาคเอกชนในสหรัฐฯ จะเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงในสินค้าที่จะกระทบต่อธุรกิจรุนแรง นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ที่จะมีการเจรจากับทางการจีนเพื่อลดความรุนแรงของมาตรการลง

 


LastUpdate 23/03/2561 22:55:34 โดย : Admin
28-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 28, 2024, 10:56 am