การค้า-อุตสาหกรรม
'พาณิชย์' เดินหน้าเร่งศึกษาและจัดหารือภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมร่วม CPTPP


กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ขานรับนโยบายรองนายกฯ สมคิด พร้อมเดินหน้าศึกษาความพร้อม รวมถึงหารือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมการเข้าร่วมเป็นสมาชิก “ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP)” หรือเดิมใช้ชื่อว่า TPP โดยหวังจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับมาตรฐานการค้าการลงทุนของไทย ขยายการค้ากับประเทศสมาชิก CPTPP เสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศ ตลอดจนสร้างบรรยากาศดึงดูดการค้าการลงทุนของไทย 

 

 

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่ารองนายก รัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์เร่งศึกษาหารือเพื่อเตรียมความพร้อมของไทยในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP โดยสมาชิก CPTPP ได้นำเอาสาระของความตกลง TPP เดิมมาใช้ แต่ได้ชะลอการบังคับใช้บางประเด็น อาทิ การขยายระยะเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรอันเกิดจากความล่าช้าอย่างไม่สมเหตุสมผลของหน่วยงานขึ้นทะเบียน การคุ้มครองข้อมูลทดสอบยา การขยายระยะเวลาการคุ้มครองลิขสิทธิ์ (จาก 50 ปี เป็น 70 ปี) และการให้นักลงทุนฟ้องรัฐภายใต้สัญญาการลงทุนที่ทำระหว่างรัฐกับเอกชน เป็นต้น แต่ CPTPP ก็ยังถือเป็นความตกลงการค้าเสรีที่มีมาตรฐานสูง การเข้าร่วมความตกลงดังกล่าวจะเป็นโอกาสยกระดับมาตรฐานการค้าการลงทุนของไทย ช่วยให้ไทยสามารถรักษาขีดความสามารถทางการแข่งขัน และดึงดูดการลงทุนจากประเทศคู่ค้าไม่ให้เกิดการย้ายฐานการผลิตเพื่อไปใช้สิทธิประโยชน์ในประเทศสมาชิก CPTPP

นางอรมน เสริมว่า ที่ผ่านมา กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้ศึกษาและติดตามการเจรจา TPP จนสมาชิก 12 ประเทศมีการลงนามความตกลงฯ ไปเมื่อต้นปี 2559 ซึ่งกรมฯ ได้หารือหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม รวมถึงลงพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกภูมิภาคของไทย อย่างไรก็ดี ภายหลังจากที่สหรัฐฯ ได้ถอนตัวออกจากความตกลง TPP เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนนโยบายการค้าระหว่างประเทศของประธานาธิบดี โดนัล ทรัมป์ เงื่อนไขของความตกลง CPTPP ก็ได้เปลี่ยนไป และได้มีการชะลอการบังคับใช้ประเด็นที่เคยเป็นข้อห่วงกังวลสำคัญของไทย โดยเฉพาะประเด็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา  

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศอยู่ระหว่างศึกษาถึงประโยชน์และผลกระทบของความตกลง CPTPP ในรายละเอียด และจะเชิญหารือทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านต้นเดือนเมษายนนี้เตรียมความพร้อม ทั้งนี้ CPTPP จะมีผลใช้บังคับเมื่อประเทศสมาชิกอย่างน้อย 6 ประเทศ ให้สัตยาบันตามขั้นตอนภายในของแต่ละประเทศ และคาดว่า CPTPP จะมีผลใช้บังคับในปลายปี 2561 หรือต้นปี 2562 ก่อนที่จะเปิดรับสมาชิกใหม่ต่อไป

ทั้งนี้ ความตกลง CPTPP ประกอบด้วยสมาชิก 11 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์  ชิลี เปรู เม็กซิโก ญี่ปุ่น บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม โดยในปี 2560 สมาชิก CPTPP มี GDP รวมกันคิดเป็นมูลค่า 10.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 13.5 ของ GDP โลก) มีประชากรรวม 495 ล้านคน (ร้อยละ 6.8 ของประชากรโลก) สำหรับการค้าระหว่างไทยกับสมาชิก CPTPP 11 ประเทศ ในปี 2560 มีมูลค่าการค้าระหว่างกันรวม 134.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 29.3 ของการค้ารวมของไทย) โดยไทยส่งออกไป CPTPP 11 ประเทศ เป็นมูลค่า 70.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 29.7 ของการส่งออกไทยไปโลก) และไทยนำเข้าจาก CPTPP 11 ประเทศ เป็นมูลค่า 64.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 28.9 ของการนำเข้าไทยจากโลก) โดยไทยได้เปรียบดุลการค้ากับ CPTPP 11 ประเทศ เป็นมูลค่า 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 26 มี.ค. 2561 เวลา : 10:44:14
16-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 16, 2025, 3:00 am