สศก. ร่วมประชุมหุ้นส่วนเชิงนโยบายด้านความมั่นคงอาหาร หรือ PPFS ภายใต้กรอบเอเปค ยกบทบาทการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรฯ ตามนโยบายสำคัญแบบบูรณาการด้วยระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ การดำเนินงาน ศพก. และการส่งเสริมเกษตรทฤษฏีใหม่ผลักดันให้เกิดความมั่นคงอาหารในภูมิภาคอย่างยั่งยืน
นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการประชุมหุ้นส่วนเชิงนโยบายด้านความมั่นคงอาหาร (Policy Partnership on Food Security: PPFS) ภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปค ซึ่ง สศก. ได้ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นผู้แทนไทยเข้าประชุม ระหว่างวันที่ 3 - 4 มีนาคม 2561 ณ กรุงพอร์ตมอร์สบี รัฐเอกราชปาปัวนิวกินี
การประชุมกรอบความร่วมมือดังกล่าว ปาปัวนิวกินี ในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุม ได้กำหนดหัวข้อหลัก คือ “การสร้างโอกาสอย่างครอบคลุมเพื่อเปิดรับอนาคตทางดิจิทัล” ประกอบด้วยประเด็นสำคัญ 3 หัวข้อ ได้แก่ 1) การพัฒนาความเชื่อมโยงและส่งเสริมการบูรณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาค 2) การส่งเสริมการเจริญเติบโตอย่างครอบคลุมและยั่งยืน เน้นประเด็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การส่งเสริมบทบาทสตรีในระบบเศรษฐกิจ และความมั่นคงอาหารโดยเฉพาะด้านเกษตรและประมง และ 3) การเสริมสร้างการเจริญเติบโตอย่างครอบคลุม ด้วยการปฏิรูปโครงสร้างเพื่อลดอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนข้ามพรมแดน
สำหรับการประชุม PPFS เป็นเวทีความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อร่วมกันกำหนดนโยบาย ความมั่นคงอาหารในภูมิภาค โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความร่วมมือแบบสมัครใจ และไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย ซึ่งที่ประชุมได้มีการหารือเกี่ยวกับการดำเนินโครงการต่างๆ ที่สนับสนุนความมั่นคงอาหารในภูมิภาค รวมทั้ง แลกเปลี่ยนรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินงานด้านความมั่นคงอาหารและการเกษตรของแต่ละเขตเศรษฐกิจ
โอกาสเดียวกันนี้ ผู้แทน สศก. ได้รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานด้านความมั่นคงอาหารของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยดำเนินงานตามนโยบายสำคัญ ได้แก่ ระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ เพื่อลดต้นทุนการผลิตเพิ่มผลผลิต สินค้ามีคุณภาพได้มาตรฐาน มีการบริหารจัดการ และการตลาด การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร เพื่อมุ่งเน้นการกระจายองค์ความรู้ทางการเกษตรให้ทั่วถึงในทุกอำเภอ และการส่งเสริมเกษตรทฤษฏีใหม่ ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งของเกษตรกรรมยั่งยืน มุ่งเน้นการสร้างความรู้เข้าใจในเรื่องเกษตรทฤษฏีใหม่ ยึดหลักการบูรณาการ 5 ภาคส่วน ได้แก่ รัฐ ประชาสังคม เกษตรกร เอกชน และการศึกษา เพื่อให้เกษตรกรปรับใช้ในการประกอบอาชีพอย่างมั่นคงและยั่งยืน
นอกจากนี้ ผู้แทนจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้รายงานความก้าวหน้าของความร่วมมือภายใต้โครงการประชารัฐ ได้แก่ การดำเนินงานในเรื่องป่าชุมชนของจังหวัดสกลนคร ซึ่งช่วยให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยอาศัยหลักความสมัครใจของชุมชน รวมทั้งโครงการเลี้ยงปลาในบ่อบำบัด โดยการใช้ระบบหมุนเวียนน้ำในการลดมลพิษ ลดการเลี้ยงปลาในกระชัง และสนับสนุนการดำเนินงานของผู้ประกอบการรายย่อย และ เทคนิคการปลูกข้าวใช้น้ำน้อย ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนและเพิ่มผลผลิต
ทั้งนี้ ที่ประชุม PPFS ได้ให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อความมั่นคงอาหาร และการเพิ่มบทบาทของสตรีในภาคการเกษตรและอาหาร โดยไทยได้ดำเนินการอยู่แล้วตามนโยบายSmart Farmer และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเกษตรกรรายย่อย ซึ่งเป็นโอกาสดีของไทยในการแลกเปลี่ยนนโยบายและแนวปฏิบัติที่ดีในการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงอาหารในภูมิภาคอย่างยั่งยืน
ข่าวเด่น