กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่ามีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.10-31.30 ต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดอ่อนค่าที่ 31.21 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ส่วนนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย 3.8 พันล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตร 2.9 หมื่นล้านบาท ดอลลาร์อ่อนค่าเทียบสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ย Fed funds rate 0.25% สู่ช่วง 1.50%-1.75% ขณะที่เฟดคงประมาณการว่าจะขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้อีกสองครั้งตามคาด แต่ปรับขึ้นประมาณการสำหรับดอกเบี้ยในปี 2562 และ 2563 ส่วนเงินเยนแข็งค่าสุดในรอบ 16 เดือน โดยมีแรงซื้อเงินเยนเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงหลังตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลงเนื่องจากความกังวลสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน หลังประธานาธิบดีทรัมป์ ลงนามเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากจีนวงเงิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์ และจีนตอบโต้ด้วยการประกาศตั้งกำแพงภาษีสินค้าสหรัฐฯ
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า การเปิดฉากสงครามการค้าจากสหรัฐฯ ยังเป็นประเด็นที่สร้างความผันผวนให้กับตลาด ยิ่งไปกว่านั้น เราให้ความสนใจกับปัจจัยเสี่ยงที่ว่าจีน ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ และถือครองพันธบัตรสหรัฐฯ สูงถึง 1.18 ล้านล้านดอลลาร์ อาจโต้กลับด้วยการขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าสหรัฐฯ มีเป้าหมายหลักที่จีน แต่การค้าโลกซึ่งเชื่อมโยงกันผ่านห่วงโซ่การผลิตจะทำให้ประเทศอื่นๆ รวมถึงไทยอาจได้รับผลกระทบทางอ้อมผ่านการส่งออกไปจีน อนึ่ง จีนเป็นตลาดส่งออกอันดับต้นๆ ด้วยสัดส่วน 11.4% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทยในเดือนกุมภาพันธ์ และแม้ว่าดอลลาร์จะอ่อนค่าเทียบกับสกุลเงินหลักเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้า แต่หากสถานการณ์ขยายวงไปถึงจุดที่นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นต่อทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจโลก อาจทำให้สกุลเงินตลาดเกิดใหม่ รวมถึงเงินบาทอ่อนค่าได้เช่นกัน
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ในการประชุมวันที่ 28 มีนาคม แม้ว่าการขึ้นดอกเบี้ยครั้งล่าสุดของเฟดทำให้ดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ สูงกว่าไทยเป็นครั้งแรกในรอบ 13 ปี แต่เราเชื่อว่ากนง.ต้องการรักษานโยบายการเงินที่เอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจท่ามกลางเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ ส่วนแนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เรามองเช่นเดิมว่ามีโอกาสที่จะปรับขึ้นหนึ่งครั้ง อย่างไรก็ดี หากในระยะถัดไปแรงส่งเชิงบวกจากการค้าโลกซึ่งช่วงที่ผ่านมานั้นอยู่ในทิศทางสดใสต่อเนื่องและสนับสนุนการเติบโตของภาคส่งออกไทยมีเหตุต้องสะดุดลง ผู้ดำเนินนโยบายจำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้นในการพิจารณาปรับสมดุลนโยบายการเงิน
ข่าวเด่น