ประกัน
BKI เผยแนวโน้มธุรกิจประกันวินาศภัยและทิศทางการดำเนินงานปี 2561


กรุงเทพประกันภัยเผยผลงานปี 2560 มีกำไรสุทธิ 2,403 ล้านบาท พร้อมเผยทิศทาง การดำเนินงานปี 2561 ตั้งเป้าเติบโตร้อยละ 5 จากผลพวงทางภาวะเศรษฐกิจที่คาดว่าฟื้นตัวดีขึ้น พร้อมมุ่งพัฒนานวัตกรรมการบริการการรับประกันภัยและการเคลม ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ  เพื่อให้บริการที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของลูกค้าและคู่ค้าได้อย่างครบวงจร

  

 

 

   

นายพนัส  ธีรวณิชย์กุล กรรมการและประธานคณะผู้บริหาร บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ BKI  เปิดเผยถึงแนวโน้มธุรกิจประกันวินาศภัยในปี 2561 ว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้คาดการณ์ถึงธุรกิจประกันวินาศภัยในปี 2561 ว่าจะเติบโตประมาณร้อยละ 5.0 จากปีก่อนที่มีเบี้ยประกันภัยรับตรง 219,581 ล้านบาท โดยตลาดประกันภัยรถยนต์ยังคงเป็นเป้าหมายหลักในการขยายงาน ด้วยปัจจัยสนับสนุนจากยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ในปี 2560 ที่เติบโตสูงถึงร้อยละ 13.4 จากที่เติบโตติดลบ 4 ปีติดต่อกัน และคาดว่าจะยังเติบโตได้อีกต่อเนื่องในปี 2561 เท่ากับร้อยละ 3.4  หรือ 900,000 คัน  (ข้อมูล: บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น) ซึ่งบริษัทประกันภัยต่างๆ จะยังมีการแข่งขันด้านราคาอยู่ แต่อาจไม่รุนแรงเท่ากับในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากอัตรา Loss Ratio ของประกันภัยรถยนต์ทั้งระบบเริ่มสะท้อนค่าที่สูงขึ้น ประกอบกับการเติบโตของยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่นี้อาจจะส่งผลในการเพิ่มปริมาณลูกค้ารายใหม่ในตลาดมากขึ้น ซึ่งจะทำให้บรรยากาศในการแข่งขันผ่อนคลายลง  

 

 

สำหรับการประกันภัย Non - Motor มีแนวโน้มที่เติบโตเช่นกัน โดยประกันภัยทรัพย์สินคาดว่า จะได้รับผลบวกจากโครงการก่อสร้างพื้นฐานคมนาคมของภาครัฐ ซึ่งจะมีการเปิดประมูลและเบิกจ่ายงบประมาณมากกว่าปีที่ผ่านๆ มา 

ทั้งนี้ ธุรกิจประกันวินาศภัยยังจะได้รับผลบวกจากความต้องการผลิตภัณฑ์ประกันภัยรูปแบบใหม่ เช่น ประกันภัย Drone  ซึ่งปัจจุบันมีการออกกฎหมายบังคับให้เจ้าของ Drone ที่มีขนาดใหญ่ตามเกณฑ์ที่กำหนดจะต้องจดทะเบียนและทำประกันภัย รวมถึงประกันภัย Cyber Insurance ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวสูงจากความเสี่ยงด้าน Cyber Crime ที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณการทำธุรกรรมการเงินทางออนไลน์ หรือการจับจ่ายซื้อสินค้าโดยไม่ใช้เงินสด (Cashless) เช่น บัตรเครดิต บัตรเดบิต E-Wallet ที่มีปริมาณการใช้มากขึ้นเรื่อยๆ ตลอดจนเทคโนโลยีการชำระเงินใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ระบบการชำระเงินด้วย QR Code หรือ QR Payment

นอกจากนี้ บริษัทประกันภัยต่างมุ่งนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพ การให้บริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าและคู่ค้า ได้แก่ ด้านช่องทางการจัดจำหน่ายที่บริษัทประกันภัยต่างๆ  ได้พัฒนาการขายผ่านช่องทาง Digital อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับไลฟ์สไตล์ของลูกค้าเป้าหมายรุ่นใหม่ที่ต้องการความรวดเร็วและเลือกสรรผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เหมาะสมกับความต้องการของตนเอง

 

 

สำหรับผลดำเนินงานของบริษัทกรุงเทพประกันภัยในปี 2560 และทิศทางการดำเนินงานในปี 2561 ดร.อภิสิทธิ์  อนันตนาถรัตน กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ได้กล่าวว่า ในปี 2560 บริษัทฯ มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 15,940.9 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.6 จากปี 2559 อย่างไรก็ดี ในด้าน ผลกำไร บริษัทฯ มีกำไรสุทธิจากการรับประกันภัยหลังหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและต้นทุนทางการเงิน 1,396.4 ล้านบาท ประกอบกับมีการบริหารการลงทุนที่ดี ทำให้บริษัทฯ มีกำไรก่อนหักภาษีเงินได้  2,762.3 ล้านบาท และเมื่อหักค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้แล้ว บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 2,403.1  ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 22.57 บาท  

สำหรับปี 2561 บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายเติบโตร้อยละ 5.0 คิดเป็นเบี้ยประกันภัยรับรวมทั้งสิ้น 16,800 ล้านบาท ซึ่งการกำหนดเป้าหมายนี้อยู่บนสมมติฐานที่ว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวดีขึ้น ด้วยแรงขับเคลื่อนจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของภาครัฐ การท่องเที่ยว และการนำเข้าส่งออก ที่ขยายตัวขึ้น โดยทิศทางการดำเนินงานหลักๆ ของบริษัทฯ มีดังนี้

  • การขยายเบี้ยประกันภัยทั้งจากการเพิ่มอัตราการต่ออายุ และการหาลูกค้าใหม่ 

การติดตามพอร์ตการรับประกันภัยเพื่อดูแนวโน้มของผลประกอบการของลูกค้าและคู่ค้าอย่างใกล้ชิด
และการคัดเลือกรับประกันภัยงานที่มีคุณภาพ รวมทั้งการส่งเสริมและสนับสนุนให้คู่ค้า ตัวแทนและนายหน้าที่มีพอร์ตงานประกันภัยจำนวนมากส่งงานให้แก่บริษัทฯ เพิ่มขึ้น

  • การขยายตลาดลูกค้ารายย่อยยังเป็นเป้าหมายสำคัญสำหรับการประกันภัยรถยนต์ 

 

โดยกลุ่มเป้าหมายทางการตลาดที่จะมุ่งขยายงานในปี 2561 ได้แก่ รถบรรทุกใหญ่ ซึ่งยังมีอัตรา Loss Ratio ในระดับที่ยอมรับได้ และในตลาดมีอัตราการเติบโตสูงตามอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ ปริมาณการค้าชายแดน และการก่อสร้างโครงการก่อสร้างพื้นฐานคมนาคมของภาครัฐ  ส่วนการประกันภัยรถยนต์ประเภทอื่นๆ นั้น บริษัทฯ ยังคงมีนโยบายกำหนดเบี้ยประกันภัยตามความเสี่ยงภัยที่แท้จริง ยังคงไม่เน้นการลดเบี้ยประกันภัยเพื่อการแข่งขัน ซึ่งบริษัทฯ ได้นำ Analytic Tool เข้ามาใช้เพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าอย่างจริงจัง เพื่อเข้าใจในพฤติกรรมของลูกค้า และจะนำมาซึ่งการปรับปรุงแพกเกจกรมธรรม์ประกันภัยให้มีศักยภาพในการขยายงาน พร้อมทั้งสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น เช่น ประกันภัย 2+ , ประกันรถยนต์ประเภท 1 Motor Pricing by region

  • ส่วนงานประกันภัย Non - Motor จะมุ่งขยายงานตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche market) 

มากขึ้น เช่น ประกันภัย D&O ประกันภัย Trade Credit ซึ่งมีฐานลูกค้าเฉพาะกลุ่มและยังมีคู่แข่งขัน น้อยราย รวมถึงการประกันภัย Drone 

 

 

“การรุกตลาดในปีนี้ของกรุงเทพประกันภัย ในส่วนประกันภัยรถยนต์ จะมุ่งเน้นขยายตลาดรายย่อย ที่มุ่งเติบโตการทำ ประกันภัยรถยนต์ในปีที่ 2 และปีที่ 3  เพราะการทำประกันรถปีแรก ส่วนใหญ่จะแถมตอนซื้อรถ และจะมุ่งขยายตลาดไปยังตลาดภูมิภาคที่ยังมีศักยภาพเติบโตค่อนข้างมาก 

สำหรับกลุ่มเป้าหมาย นอกจากรายย่อยแล้ว ในปีนี้จะโฟกัสไปที่ รถบรรทุกขนาดใหญ่ 4 ตันขึ้นไป โดยจะขยายทุกเซ็กเมนต์ของตลาดรถบรรทุก ทั้งในภาคเกษตรกรรม พาณิชยกรรม และภาคการขนส่ง รวมถึง รถพ่วง โดยจะต้องเป็นรถบรรทุกใหม่ที่มีอายุ  1-3 ปี ซึ่งเจ้าของรถจะดูแลบำรุงรักษารถอย่างดี และเลือกเฟ้นคนขับที่ขับรถดีมาขับ ทำให้ความเสี่ยงลดลง และ Loss Ratio  อยู่ในระดับที่รับได้

 

ส่วนประกันภัย  Non-Motor จะมุ่งขยายตลาดเฉพาะกลุ่มที่ยังมีผู้เล่นในตลาดไม่เยอะทั้งประกันภัยความรับผิด, ประกันภัยเทรดเครดิต,ประกันภัยความรับผิดทางคอมพิวเตอร์ และประกันภัย Drone

นอกจากนี้ บริษัทฯ มีแผนงานที่จะนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้ในวงการประกันภัย โดยขณะนี้ ได้มีการศึกษาและเตรียมการสร้างหน่วยงานเฉพาะด้านนวัตกรรมและดิจิทัลเทคโนโลยี เพื่อสรรหาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในธุรกิจประกันภัย ทั้งที่เกี่ยวข้องกับการขายประกันภัย เทคโนโลยีที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าในการแจ้งเคลมหรือชำระเงิน เพื่อเป็นการเพิ่มคุณภาพในการให้บริการลูกค้า และคู่ค้าให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงลดข้อผิดพลาดในการทำงานของพนักงาน  ตลอดจนช่วยลดต้นทุนในการดำเนินงานของบริษัทฯ ประกอบกับในปัจจุบันบริษัทฯ ยังให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องกับการนำระบบ CRM มาใช้ในการให้บริการลูกค้าและคู่ค้าอย่างเต็มที่ เช่น การจัดทำแผนเยี่ยมเยียนลูกค้า คู่ค้า
การต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัย การจัดแคมเปญการขาย เป็นต้น ไม่เพียงเท่านี้ บริษัทฯ ยังได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร โดยมีการจัดการองค์ความรู้ ถ่ายทอดและสอนงานอย่างเป็นระบบให้สอดคล้องกับตำแหน่งงาน รวมถึงส่งเสริมให้ทำงานอย่างมืออาชีพได้โดยยึดหลักธรรมาภิบาล เพื่อให้เกิดการปฏิบัติอย่างมีคุณธรรม จริยธรรม มีความรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อผลสำเร็จขององค์กรอย่างยั่งยืน

 

 

ทั้งนี้ ในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2561 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ออกกรมธรรม์ประกันภัยสวนทุเรียน  ซึ่งถือเป็นบริษัทประกันภัยรายแรกที่มีการรับประกันภัยดังกล่าว โดยให้ความคุ้มครองความเสียหายจากภัยอันได้แก่  ภัยลมพายุ  ลูกเห็บ   น้ำท่วม  ไฟไหม้ ฟ้าผ่า  ไฟไหม้ป่า พุ่มไม้หรือพงรกโดยอุบัติเหตุ หรือเหตุ ที่ลุกไหม้ขึ้นมาเอง รวมถึงการกระแทก การชน หรือลำต้นหักโดยสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ป่า หรือสัตว์เลี้ยง  ด้วยบริษัทฯ เห็นถึงความสำคัญของทุเรียนซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย และที่ผ่านมาเกษตรกรมักจะประสบกับปัญหาผลกระทบจากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นค่อนข้างบ่อย โดยได้ทำลายสวนทุเรียนทำให้ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก ดังนั้น การประกันภัยสวนทุเรียนจะสามารถตอบโจทย์ในการช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของเกษตรกรได้เป็นอย่างดี ซึ่งคาดว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีด้วยเช่นกัน


LastUpdate 29/03/2561 22:55:22 โดย : Admin
20-05-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 20, 2025, 1:46 am