ต้องยอมรับว่า การยกเว้นค่าธรรมเนียมการธุรกรรมผ่านระบบออนไลน์ไม่ใช่เรื่องใหม่ของธนาคารพาณิชย์ไทย โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากธนาคารทหารไทย ในยุคการบริหารงานภายใต้การนำของนายบุญทักษ์ หวังเจริญ ที่ต้องการสร้างความแตกต่าง หรือ Make the difference ให้กับลูกค้า

และแม้จะมีการประเมินผลกระทบกับรายได้ หลังจากที่ธนาคารพาณิชย์ ประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมโอนเงิน ชำระบิล ผ่านระบบออนไลน์ โดย นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า การยกเลิกค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมโอนเงิน เติมเงิน และชำระบิล ผ่านระบบออนไลน์ของภาคธุรกิจธนาคาร จะกระทบรายได้ของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในปีนี้ประมาณ 9,000 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนไม่ค่ามากเมื่อเทียบกับรายได้ค่าธรรมเนียมทั้งระบบที่มีประมาณ 190,000 ล้านบาท และกระทบต่อกำไรเล็กน้อย เนื่องจากค่าธรรมเนียมในส่วนอื่นๆยังมีการเติบโตต่อเนื่อง และเติบโตในระดับสูง
แต่ก็เชื่อว่า รายได้ที่หายไปจะถูกชดเชย ด้วยจำนวนลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการการเงินบนช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือโมบาย แบงกิ้งที่เพิ่มขึ้น ทำให้ธนาคารมีข้อมูลของลูกค้าเพิ่มขึ้น นำไปสู่การวิเคราะห์และนำเสนอสินเชื่อ รวมถึงนำไปใช้ในการขายข้ามผลิตภัณฑ์ หรือ Cross Sell นำไปสู่โอกาสทางธุรกิจอื่นๆ ที่จะสร้างรายได้ให้กับภาคธุรกิจธนาคารมากขึ้น
ส่วนมุมมองของผู้กำกับสถาบันการเงิน น.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เป้าหมายในเรื่องการส่งเสริมอี-เพย์เมนต์ (e-Payment) คือการให้ประชาชนและภาคธุรกิจลดการใช้เงินสดและเช็ค ซึ่งการปรับลดค่าธรรมเนียมโอนเงินด้วยเลขที่บัญชีของธนาคารพาณิชย์ตามกลไกตลาดในครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยส่งเสริมให้ประชาชนใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ในการทำธุรกรรมทางการเงินมากขึ้น
ขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์ก็จะได้ฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นและสามารถต่อยอดการให้บริการอื่นๆ ได้ และจะเป็นการส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานกลางทำให้เกิดการแข่งขัน ซึ่งธนาคารพาณิชย์และผู้ใช้บริการทางการเงินจะได้ประโยชน์ในระยะยาว
ซึ่งกระแสดังกล่าวเชื่อว่าในที่สุดธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง จะต้องมีการประกาศไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อรักษาฐานลูกค้า ไม่เว้นแม้กระทั่งธนาคารของรัฐ เมื่อ นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ยอมรับว่า เตรียมหารือกับคณะกรรมการธนาคารในวันจันทร์ที่ 2 เม.ย.นี้ เพื่อพิจารณาเรื่องการยกเลิกค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมทางการเงิน และการโอนเงิน การจ่ายบิล ของธนาคารออมสิน ผ่านโมบาย แบงก์กิ้ง หลังจากที่ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ได้ทยอยประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านโมบายแบงก์กิ้ง ซึ่งธนาคารออมสินจะมอบเป็นของขวัญให้กับลูกค้าเนื่องในวันเกิดออมสินวันที่ 1 เม.ย.นี้ นอกจากนี้ ธนาคารจะปรับลดค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านช่องทางธนาคารหน้าเคาน์เตอร์และช่องทางเอทีเอ็มด้วย
“แม้เราจะประกาศทีหลังแบงก์พาณิชย์อื่น แต่เราจะให้มากกว่า ไม่เฉพาะการโอนผ่านโมบายแบงก์กิ้ง แต่เราจะให้ในช่องทางอื่นด้วย โดยเรายอมสูญเสียรายได้ค่าธรรมเนียมจากช่องทางโมบาย แบงก์กิ้ง 400 ล้านบาท เพื่อรักษาฐานลูกค้า และให้ลูกค้าได้ประโยชน์จากการใช้โมบายแบงก์กิ้งของธนาคารออมสิน อย่างไรก็ตาม ธนาคารคงต้องไปเพิ่มรายได้จากการให้บริการในส่วนอื่นเพื่อมาชดเชยรายได้ในส่วนนี้ที่ขาดหายไป โดยปัจจุบันรายได้ค่าธรรมเนียมรวมของธนาคารมีสัดส่วนอยู่ที่ 5% นอกนั้น 95% เป็นรายได้จากการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งถือเป็นรายได้หลักของธนาคาร” นายชาติชายกล่าว
ทั้งนี้ ปัจจุบันออมสินมีฐานลูกค้า 20 ล้านราย ปีที่ผ่านมามีรายได้ค่าธรรมเนียมราว 5,000 ล้านบาท ปีนี้ตั้งเป้ารายได้ค่าธรรมเนียม 7,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นค่าธรรมเนียมจากบัตรต่างๆ เช่น บัตรเครดิต ส่วนค่าธรรมเนียมที่ได้จากการโอนเงินในปีที่ผ่านมายังอยู่ที่หลักร้อยล้าน ซึ่งถือว่ายังไม่มาก เมื่อเทียบกับระบบธนาคารพาณิชย์ที่มีรายได้ค่าธรรมเนียมหลักหมื่นล้านบาท แต่ยอมรับว่า หากมีการยกเว้นค่าธรรมเนียมการถอนเงิน จะส่งผลกระทบกับรายได้ค่าธรรมเนียม และอาจกระทบกับเป้าหมายหารายได้ในปีนี้ไปบ้าง แต่ต้องพิจารณาเพื่อให้ลูกค้าได้ประโยชน์สูงสุด
แม้จะมองว่า รายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์จะลดลงบ้างในระยะสั้น แต่ในที่สุดก็เชื่อว่า ผลกำไรของธนาคารในปีนี้จะยังเติบโตได้อย่างงดงาม ไม่แพ้ปีที่ผ่านๆมา
ข่าวเด่น