อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมีนาคมอยู่ที่ 0.79%YOY สูงขึ้นจาก 0.42%YOY ในเดือนกุมภาพันธ์ ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 3 เดือนแรกของปี 2018 อยู่ที่0.64%YOY ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวอยู่ที่ 0.63%YOY เท่ากันกับเดือนก่อน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 3 เดือนแรกของปี อยู่ที่ 0.61%YOY
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่เร่งตัวขึ้นยังคงเป็นผลจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นเป็นหลัก โดยราคาน้ำดิบ เบรนท์เฉลี่ยเดือนมีนาคมอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 27.9%YOYส่งผลให้ดัชนีราคาพลังงานขยายตัว 3.8%YOY เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่1.7%YOY อย่างไรก็ตาม ราคาอาหารสดที่หดตัวยังเป็นปัจจัยกดดันให้อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ เห็นได้จากดัชนีราคาอาหารสดที่ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่13 ที่ -0.7%YOY โดยเฉพาะราคาเนื้อสัตว์หดตัวลงที่ -5.2%YOY ไข่และผลิตภัณฑ์นมที่ -1.3%YOY และเครื่องประกอบอาหารที่ -1.9%YOY
อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงทรงตัว เนื่องจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารค่อนข้างทรงตัว เช่น ราคาหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าขยายตัวเพียง 0.04%YOY หมวดค่าเช่าที่พักอาศัยขยายตัวที่ 0.57%YOY หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคลที่ 0.42%YOY เป็นต้น
อีไอซีคาดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยฟื้นตัวโดยเฉลี่ยทั้งปี 2018 อยู่ที่1.1%YOY โดยปัจจัยหลักที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นคือราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในช่วงที่เหลือของปีที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงกว่าปีก่อน ประกอบกับการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตสำหรับบุหรี่และสุราที่ยังคงมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ นอกจากนี้ ยังต้องจับตาผลกระทบจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำต่อต้นทุนการผลิตซึ่งจะมีผลตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยกดดันที่ทำให้เงินเฟ้อฟื้นตัวได้ช้า ได้แก่ ราคาอาหารสดโดยเฉพาะราคาผักและผลไม้ยังมีแรงกดดันจากผลผลิตทางการเกษตรที่อาจมีปริมาณออกสู่ตลาดจำนวนมากตามแนวโน้มสภาพอากาศและปริมาณน้ำที่เอื้ออำนวยต่อการผลิต และเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทำให้ราคานำเข้าโดยเฉพาะราคาพลังงานมีราคาลดลง ทั้งนี้ เงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำจะมีนัยสำคัญต่อการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยอีไอซีมองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะคงที่ตลอดปี 2018ที่ 1.5%
อีไอซีมองว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยมีแนวโน้มทรงตัวที่ 0.6%YOY ในปี 2018โดยราคาสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปอาจปรับขึ้นได้ยาก เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคยังอ่อนแอโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเห็นได้จากดัชนีการบริโภคสินค้าไม่คงทนขยายตัวต่ำเพียง 0.1%YOY ในช่วง 2 เดือนแรกของปี ซึ่งเป็นผลมาจากอัตราการว่างงานที่ยังคงเพิ่มขึ้นจาก 0.96%ของกำลังแรงงานรวม ณ สิ้นปี 2017 มาอยู่ที่ 1.28% ในเดือนกุมภาพันธ์ 2018รวมถึงรายได้ภาคเกษตรยังลดลงจากราคาสินค้าเกษตรที่อยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อนโดยเฉพาะราคายางพาราและราคาอ้อย อีไอซีมองว่าความอ่อนแอของกำลังซื้อกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเป็นแรงกดดันสำคัญต่อแนวโน้มเงินเฟ้อพื้นฐาน เนื่องจากตะกร้าดัชนีราคาผู้บริโภคของไทยสะท้อนรูปแบบการใช้จ่ายของผู้มีรายได้ปานกลาง-น้อยเป็นหลัก
ข่าวเด่น