ขณะที่เทคโนโลยีด้านการเงินได้มีการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้การปล่อยสินเชื่อมีความสะดวก รวดเร็วมากขึ้น เมื่อเทียบกับในอดีต ซึ่งเห็นได้จากสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยในปี 2560 ที่เพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 8 ไตรมาส มาอยู่ที่ระดับ 77.5% สะท้อนการก่อหนี้ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Y หรือประชากรที่เกิดระหว่างปี 2523-2543 หรืออายุระหว่าง 20-37 ปี ยังก่อหนี้ เพิ่มขึ้นในทุกประเภทสินเชื่อ
นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) เปิดเผยว่า จากข้อมูลหนี้ครัวเรือนปี 2560 พบว่า กลุ่ม Gen Y มีการก่อหนี้เพิ่มขึ้น แทบทุกประเภทของสินเชื่อ และยังเป็น กลุ่มที่มีหนี้ที่มีปัญหาสูง เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) รวมกันสูงถึง 2.9 แสนล้านบาท
และหากแยกเป็นประเภทสินเชื่อในแต่ละกลุ่มพบว่า สินเชื่อบ้าน มีจำนวนบัญชีเปิดใหม่ 3.59 แสนบัญชี กลุ่ม Gen Y มีสัดส่วนสูงถึง 53% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีสัดส่วน 50% ของจำนวนบัญชีเปิดใหม่ และเป็นบัญชีที่มีปัญหาค้างชำระ รวมเอ็นพีแอล 7 หมื่นบัญชี คิดเป็นมูลหนี้กว่า 8 หมื่นล้านบาท แต่ยังต่ำกว่าเจนเอ็กซ์ Gen X (อายุ 38-52 ปี) มีจำนวนบัญชีที่มีปัญหากว่า 1.1 แสนบัญชี มูลหนี้ 1.1 แสนล้านบาท
สินเชื่อรถยนต์มีจำนวนบัญชีเปิดใหม่ 1.3 ล้านบัญชี เป็นการก่อหนี้ของกลุ่ม Gen Y 47% เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ที่กลุ่ม Gen Y มีสัดส่วน 44% ของจำนวนบัญชีเปิดใหม่ เป็นบัญชีที่มีปัญหามากกว่า 4 แสนบัญชี คิดเป็นมูลหนี้ มากกว่า 1.1 แสนล้านบาท สำหรับสัดส่วนเอ็นพีแอลของสินเชื่อรถยนต์ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 6.3% ลดลงเล็กน้อยจาก ปีก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 6.6%
สินเชื่อบัตรเครดิต มีจำนวนบัญชีเปิดใหม่ 1.75 ล้านบัญชี เป็นบัญชีของกลุ่ม Gen Y 56% เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ที่มีสัดส่วน 53% ของจำนวนบัญชีเปิดใหม่ทั้งหมดเป็นบัญชีที่มีปัญหาเกือบ 5 แสนบัญชี คิดเป็นมูลหนี้ กว่า 2 หมื่นล้านบาท มีสัดส่วน เอ็นพีแอลอยู่ที่ 13.9% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่อยู่ 13.2%
ขณะที่ สินเชื่อส่วนบุคคล มีจำนวนบัญชีเปิดใหม่ 3.25 ล้านบัญชี เป็นบัญชีของกลุ่ม Gen Y 44% กลับลดลงเล็กน้อย จากปีก่อนหน้าที่กลุ่ม Gen Y มีสัดส่วนบัญชีเปิดใหม่ 46% เป็นบัญชีที่มีปัญหามากกว่า 1.4 ล้านบัญชี คิดเป็นมูลหนี้กว่า 8 หมื่นล้านบาท ขณะที่สัดส่วนเอ็นพีแอล อยู่ที่ 8.6% ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนหน้าที่อยู่ที่ 8.7%
ซึ่งสะท้อนว่า มาตรการคุมสินเชื่อ บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ค่อนข้าง ได้ผล ในด้านการลดจำนวนบัญชีเปิดใหม่ ของกลุ่ม Gen Y แต่ในด้านหนี้เสีย ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งการแก้ปัญหาต้องใช้เวลา ขณะที่โครงการคลินิกแก้หนี้ก็มีข้อจำกัด ช่วยแก้ปัญหาได้เฉพาะลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์เท่านั้น
ผู้บริหารเครดิตบูโร ระบุด้วยว่า หนี้เอ็นพีแอลยังไม่ผ่านจุดสูงสุด (พีค) จึงมีโอกาสที่จะปรับขึ้นได้อีก จากสิ้นปี2560 ที่เอ็นพีแอลทั้งระบบอยู่ที่ 6.9% และคาดว่าจะปรับขึ้นสูงสุด หรือพีคในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ โดยสถาบันการเงินคงพยายามบริหารจัดการไม่ให้เอ็นพีแอลเกิน 7%
ข่าวเด่น