บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ หรือ TPIPP ดีเดย์เริ่ม COD โรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงขยะ TG 6 นำไปรวมกับไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้ง TG 4 กำลังการผลิตติดตั้งรวม 100 MW เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า PPA 90 MW พร้อมรับ Adder 3.50 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง เป็นเวลา 7 ปี หนุนผลการดำเนินงานปี 2561 เติบโตต่อเนื่อง พร้อมคาดโรงไฟฟ้าถ่านหิน-RDF TG 7 และโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน TG 8เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าได้ในไตรมาส 2 นี้
นายวรวิทย์ เลิศบุษศราคาม รองผู้จัดการใหญ่อาวุโสฝ่ายโรงงาน TPIPP ผู้ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ (RDF) และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้งที่ใหญ่ที่สุดในไทยที่มุ่งเน้นความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้กำหนดวันเริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์สำหรับโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะตาม สัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) จำนวน 90 MW ประเภท SPP NON-FIRM เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งเป็น PPA ฉบับ ที่ 3 ต่อจาก 18 MW และ 55 MW ที่ได้เปิดดำเนินการไปก่อนแล้ว โดยTPIPP จะได้รับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) อัตรา 3.50 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง เพิ่มจากค่าไฟฟ้าฐาน เป็นระยะเวลา 7 ปีนับ โดยจะเริ่มต้นขายไฟฟ้าในวันที่ 5 เมษายน 2561 ซึ่งจะทำให้มีโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ และขายไฟฟ้าให้ กฟผ. ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้ารวม 3 สัญญา รวม 163 MW (18+55+90 MW) ซึ่งบริษัทฯ ได้รับ Adder อัตรา 3.50 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง เพิ่มเติมจากราคาไฟฟ้าฐาน เป็นระยะเวลา 7 ปี นับจากวันที่เริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้าของแต่ละโรง
ในส่วนความคืบหน้าของโรงไฟฟ้าถ่านหิน-RDF TG 7 กำลังการผลิตติดตั้ง 70 MW และโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน TG 8 กำลังการผลิตติดตั้ง 150 MW ซึ่งจะจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ บมจ.ทีพีไอ โพลีน (TPIPL) นั้น คาดว่าจะสามารถจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ TPIPL ได้ในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ โดยจำหน่ายให้ในอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเดียวกับที่TPIPL ซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ทำให้เมื่อจบไตรมาส 2 บริษัทฯ จะมีกำลังการผลิตติดตั้งครบทั้งหมด 440 MW โดยขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ. 173 MW จากกำลังการผลิตติดตั้ง 180 MW และขายไฟฟ้าให้กับTPIPL ประมาณ 220 MW จากกำลังการผลิตติดตั้ง 260 MW
นายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบัญชีและการเงิน TPIPP กล่าวว่าในไตรมาส 1/61บริษัทฯ สามารถผลิตและขายไฟฟ้าได้ 259 ล้านหน่วย สูงกว่าที่เคยทำไว้สูงสุดใน Q4/60 ที่ 232.9 ล้านหน่วย ซึ่งคาดว่าจะมีรายได้ใน Q1/61 ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง และเมื่อเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ให้กับ กฟผ. ตั้งแต่ วันที่5 เมษายน 2561 นี้ อีก 90 MW ก็จะส่งผลให้ปริมาณการผลิตและรายได้จากการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นใน Q2/61 อย่างมีนัยสำคัญ โดยเมื่อกำลังการผลิตติดตั้งรวมครบ 440 MW คาดว่าจะมีปริมาณการผลิต และรายได้จากการขายไฟฟ้าในปี 2561 เติบโตมากกว่า 100% จากปี 2560 โดยบริษัทฯ ยังอยู่ระหว่างการศึกษาการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ในการขยายธุรกิจ เพิ่มเติม ทั้งในและต่างประเทศ
“เราคาดว่าผลการดำเนินงานในปีนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเติบโตแบบก้าวกระโดด และต่อเนื่องต่อไป โดยมั่นใจว่าด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในธุรกิจโรงไฟฟ้า บริษัทฯ จะสามารถบริหารจัดการกระบวนการผลิตไฟฟ้าในโรงงานใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลังจากทดสอบการผลิตมาแล้วระยะหนึ่ง” นายภัคพล กล่าว
ข่าวเด่น