นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 11 – 13เมษายนนี้ มีกำหนดเข้าร่วมการประชุมสมัชชา เอฟ เอ โอ ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก สมัยที่ 34 ณ เมืองนาดี สาธารณรัฐฟิจิ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีด้านเกษตรของประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 46 ประเทศ ภายใต้หัวข้อการขจัดความอดอยากหิวโหย รวมทั้งขึ้นกล่าวถ้อยแถลงถึงการดำเนินงานของรัฐบาลไทยในการพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมายของสหประชาชาติ โดยเฉพาะการน้อมนำเอาศาสตร์พระราชาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีโครงการในพระราชดำริ เน้นแก้ไขปัญหาดินและน้ำอย่างเป็นระบบ และยั่งยืนมาปรับใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรการผลิตที่ดี ส่งเสริมให้มีสินค้าเกษตรและอาหารที่ดี นำมาซึ่งความมั่นคงทางอาหารในระยะยาว เพื่อขจัดความหิวโหยทั้งในระดับประเทศ และยืนยันท่าทีประเทศไทยที่พร้อมร่วมมือดำเนินการกับประชาคมโลกด้วย
“การประชุมครั้งนี้จะส่งผลให้ประเทศสมาชิกได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และวิกฤตด้านอาหาร พลังงาน และเศรษฐกิจ ต่อสถานการณ์ความมั่นคงด้านอาหารในภูมิภาค และร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์และการจัดลำดับความสำคัญของความช่วยเหลือที่ภูมิภาคต้องการได้รับจาก เอฟ เอ โอ ขณะเดียวกัน เอฟ เอ โอ ยังได้รับทราบสถานการณ์และปัญหาต่าง ๆ ในประเทศสมาชิก ซึ่งมีผลกระทบต่อการผลิตด้านการเกษตรและความมั่นคงด้านอาหาร รวมทั้งรับทราบข้อเสนอความช่วยเหลือที่ประเทศสมาชิกต้องการขอรับจาก เอฟ เอ โอ ในเรื่องต่าง ๆ เช่น การฟื้นฟูเศรษฐกิจชนบท การบูรณาการเรื่องโภชนาการเข้ากับภาคการเกษตรและอาหาร และการเสริมสร้างขีดความสามารถของสำนักงานภูมิภาค เพื่อนำมาปรับใช้กับประเทศไทย” นายกฤษฏา กล่าว
อย่างไรก็ตาม นอกจากการร่วมประชุมแล้ว ไทยยังถือโอกาสหารือทวิภาคีร่วมกับผู้อำนวยการใหญ่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ และผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ และผู้แทนเอฟ เอ โอ ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เพื่อแลกเปลี่ยนความร่วมมือทั้งในประเด็นที่เอฟ เอ โอ สนใจ และประเด็นที่ไทยสนใจ เช่น การลดจำนวนผู้อดอยากหิวโหย การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย หรือไอยูยู และเรื่องความร่วมมือระหว่างไทยและเอฟ เอ โอ ในการพัฒนาภาคการเกษตร เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ไทยยังจะร่วมหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรการพัฒนาชนบทและทะเล และการจัดการภัยพิบัติแห่งชาติฟิจิ โดยมีประเด็นหารือสำคัญ เช่น การผลักดันให้มีการจัดประชุมคณะทำงานร่วมด้านการเกษตร (JAWG) ครั้งที่ 2 และ การประชุมคณะทำงานร่วมด้านประมง (JFWG) ครั้งที่ 2 ภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างกันให้เห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว และการเปิดตลาดสินค้าเกษตรระหว่างกันอีกด้วย
ข่าวเด่น