การค้า-อุตสาหกรรม
ธุรกิจร้านขายยา เวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ เด้ง!! สนองนโยบายรัฐสู่การเป็น Medical Hub


 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดผลวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจในรอบ 3 ปีที่ผ่านมาพบ...ธุรกิจร้านขายยา เวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์เติบโตอย่างก้าวกระโดด กลายเป็นธุรกิจติดดาว จากปี 59 มาถึงปี 60 มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 53.88 ประมาณการรายได้รวมปี 2560 กว่า 590,000 ล้านบาท ทำให้ปัจจุบันมีธุรกิจกลุ่มนี้ จำนวน 8,690 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียนสูงถึง 56,632 ล้านบาท เป็นผลมาจากนโยบาย Medical Hub และตอบสนองเทรนด์ดูแลสุขภาพ การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย รวมไปถึงนโยบายสวัสดิการภาครัฐที่ขยายไปยังกลุ่มร้านขายยา ซึ่งจะเป็นตัวเร่งการขยายตัวของธุรกิจนี้เพิ่มขึ้น

 

 

            นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีภารกิจหลักในการให้บริการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ รวมถึงการบริการข้อมูลธุรกิจแก่ภาคธุรกิจและประชาชน จากการวิเคราะห์ข้อมูลในช่วงที่ผ่านมาพบว่า ระหว่างปี 2558-2560 มีจำนวนนิติบุคคลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยธุรกิจที่น่าสนใจและจับตามองมากที่สุดคือ ธุรกิจร้านขายยา เวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ ที่ปัจจุบันมีนิติบุคคลคงอยู่จำนวน 8,690 ราย แม้จำนวนนิติบุคคลอาจจะดูไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่นๆ แต่ถ้ามองย้อนกลับไปในรอบ 3 ปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ชัดเจนว่าอัตราการจัดตั้งธุรกิจในกลุ่มร้านขายยา เวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์มีการเติบโตแบบก้าวกระโดด

            อธิบดี กล่าวเพิ่มเติมมีการจัดตั้งธุรกิจนี้ในปี 2558 จำนวน 702 ราย ปี 2559 จำนวน 761 ราย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.40) ปี 2560 จำนวน 1,171 ราย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 53.88) และปี 2561 มีนิติบุคคลที่จัดตั้งธุรกิจระหว่างเดือน .-.. จำนวน 175 ราย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.24 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2560) นอกจากนี้หากพิจารณาถึงทุนจดทะเบียนของธุรกิจกลุ่มนี้พบว่า มีจำนวนรวมทั้งหมดสูงถึง 56,632 ล้านบาท โดยเกือบร้อยละ 80 เป็นธุรกิจที่จัดตั้งในรูปแบบบริษัทจำกัด และกว่าร้อยละ 90 มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครและเขตเมืองที่มีความสอดคล้องกับแหล่งชุมชน โรงพยาบาล และคลินิกรักษาโรค

             การเติบโตของธุรกิจร้านขายยา เวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ คาดว่าเป็นผลสืบเนื่องมาจากนโยบายของรัฐบาลที่มียุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ซึ่งไทยมีความโดดเด่นด้านธุรกิจบริการสุขภาพและมีชื่อเสียงในระดับโลกอยู่แล้ว ประกอบกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบไปสู่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) มากขึ้น        ทั้งด้านการเข้ามารักษาโรค และการผ่อนคลายร่างกายและจิตใจ รวมไปถึงรัฐบาลได้สนับสนุนให้บุคคลธรรมดา

ปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้เข้าสู่ระบบนิติบุคคลก็นับเป็นปัจจัยที่เป็นแรงกระตุ้นให้ผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวเข้าสู่ระบบการจดทะเบียนมากขึ้น มากไปกว่านั้นปัจจุบันเทรนด์การดูแลสุขภาพและความงามยังคงเป็นกระแสที่นิยมและยังมีหลายประเทศที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) รวมทั้งประเทศไทยที่ปัจจุบันมีมากกว่า 10 ล้านคน   ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้ธุรกิจร้านขายยา เวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์เติบโตพร้อมสร้างให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องได้มีโอกาสเติบโตไปพร้อมกัน ทั้งนี้ในอนาคตนอกจากธุรกิจร้านขายยา เวชภัณฑ์และเครื่องมือทางการแพทย์ที่เป็นดาวรุ่งแล้ว ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพประเภทอื่น เช่น สปา กิจการดูแลผู้สูงอายุ บริการเสริมความงาม และเครื่องสำอางจะได้รับประโยชน์จากการเป็น Medical Hub ของไทยอีกเช่นกัน

            “การเติบโตของธุรกิจกลุ่มนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยพัฒนาให้ประเทศไทยมีธุรกิจบริการด้านสุขภาพดียิ่งขึ้น    มุ่งไปสู่การเป็น Medical Hub ตามมาด้วยเศรษฐกิจภายในประเทศที่เติบโตควบคู่กันไป แต่ยังมีผลดีเกี่ยวโยงไปถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยด้วย จากการที่รัฐบาลได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ในการใช้วงเงินจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อซื้อสินค้าในร้านขายยาที่เข้าร่วมเป็นร้านธงฟ้าประชารัฐได้ ดังนั้นการที่จำนวนร้านขายยามีปริมาณเพิ่มขึ้นก็จะช่วยอำนวยความสะดวกและสร้างทางเลือกให้กับผู้มีรายได้น้อยในการดูแลสุขภาพด้วย (ปัจจุบันมีร้านขายยาที่สมัครเข้าร่วมโครงการธงฟ้าประชารัฐแล้วจำนวน 726 แห่งทั่วประเทศ)” อธิบดี กล่าวในท้ายที่สุด


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 10 เม.ย. 2561 เวลา : 10:46:22
16-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 16, 2025, 2:47 am