ประเทศต่างๆทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย ก็จับตากรณีที่กองทัพสหรัฐอเมริการ่วมกับประเทศฝรั่งเศสและอังกฤษ ยิงขีปนาวุธโจมตีกรุงดามัสกัสและพื้นที่โดยรอบในซีเรีย เพื่อตอบโต้ต่อการที่รัฐบาลซีเรียใช้อาวุธทำร้ายประชาชน
โดยน.ส.บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ บอกว่า รัฐบาลไทยโดยกระทรวงการต่างประเทศติดตามเรื่องดังกล่าวมาตลอด ซึ่งในตอนนี้ยังต้องรอดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ตามไม่มีคนไทยอาศัยอยู่ในซีเรีย ส่วนความกังวลว่าเหตุการณ์นี้อาจบานปลายไปสู่การเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 เพราะรัสเซียให้การสนับสนุนรัฐบาลซีเรียด้วย โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ในชั้นนี้รัฐบาลไทยต้องรอดูสถานการณ์กันไปก่อน เพราะการดำเนินการก็มีเรื่องของพัฒนาการ จึงต้องมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อดูว่าจะส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง
ด้านทิศทางราคาน้ำมันในประเทศ นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.)กล่าวว่า สพน.ได้จับตาดูสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด แต่ขณะนี้ยังเชื่อมั่นว่าความรุนแรงยังไม่บานปลายไปสู่พื้นที่อื่นๆ จึงจะยังไม่มีผลกระทบต่อราคาน้ำมันตลาดโลก แม้ว่าในสัปดาห์นี้ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกดีดตัวขึ้น 4 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่ก็เป็นเรื่องปกติไม่ใช่เพราะมาจากปัญหาการสู้รบดังกล่าว
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บมจ.ปตท.จำกัด(มหาชน) มองว่า ถ้าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ยืดเยื้อ ก็ไม่น่ามีปัญหากระทบต่อราคาน้ำมันในตลาดโลก เพราะเป็นเพียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่นั้นๆ ยังไม่ได้ขยายวงกว้างออกไป แต่หากสถานการณ์บานปลาย ปตท.จะไม่ได้รับผลกระทบจากการจัดหาน้ำมันมายังประเทศไทย เพราะปตท.มีคู่ค้าและสัญญาซื้อขายน้ำมันกับประเทศผู้ผลิตจากทุกแหล่งทั่วโลก จึงจะไม่มีปัญหาการขนส่งหรือการขาดแคลนน้ำมันในประเทศ แต่ต้องยอมรับว่าราคาน้ำมันตลาดโลกอาจปรับตัวเพิ่มขึ้น เพราะความกังวลของตลาดน้ำมั นซึ่งเป็นปกติ ที่หากมีปัจจัยฉุกเฉินใดๆ เกิดขึ้น ราคาก็อาจผันผวนไปตามห้วงเวลานั้นๆ
ส่าวมุมมองนักเศรษฐศาสตร์ นายกำพล อดิเรกสมบัติ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด(มหาชน) มองถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นว่า อย่างแรกคือ ราคาน้ำมันจะปรับตัวสูงขึ้นทันที (Oil Shock) จะแต่ราคาจะสูงไปมากน้อยแค่ไหนขึ้นอย่กับ การสู้รบจะยุติเร็วหรือยืดเยื้อ เพราะซีเรียไม่ใช่ประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันหลักของโลก แต่จะมีความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geo Politic) ซึ่งจะกระทบเศรษฐกิจโลกตามมาได้
และส่งผลด้านจิตวิทยาต่อเมื่อตลาดหุ้นทั่วโลกเปิดทำการในวันจันทร์ที่ 16 เมษายน ทั้งนี้ หากสถานการณ์สู้รบจบลงเร็ว ราคาน้ำมันจะสูงขึ้นไม่มาก และไม่น่าเกิดปัญหาน้ำมันขาดหรือ ซัพพลาย ช็อก เหมือนสงครามอ่าวเปอร์เซีย ที่มีการสู้รบใน อิรัก อิหร่าน คูเวต ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันหลักของโลก ตรงข้ามหากสงครามยืดเยื้อและลุกลามไปประเทศอื่นๆราคาน้ำมันสูงขึ้นรุนแรง ซึ่งจะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นเช่นกัน และกระทบเศรษฐกิจโลก โดยเหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นสงครามตัวแทนระหว่างรัสเซียกับสหรัฐและชาติพันธมิตรอย่างอังกฤษและฝรั่งเศส
ข่าวเด่น