วิทยาศาสตร์
ไทย-เยอรมัน ลงนามความร่วมมือพัฒนาชุดอุปกรณ์เครื่องรับและประมวลผลสัญญาณวิทยุของกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ


สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ลงนามความร่วมมือกับสถาบันดาราศาสตร์วิทยุมักซ์พลังค์ (Max Planck Institute for Radio Astronomy: MPIfR) เพื่อพัฒนาชุดอุปกรณ์เครื่องรับสัญญาณวิทยุและซอฟต์แวร์ในการรับและประมวลผลสัญญาณวิทยุสำหรับกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร ที่ สดร. กำลังเตรียมการก่อสร้าง บริเวณศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ในพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ มี ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และดร.มาณพ สิทธิเดช อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) กรุงบรัสเซลลส์ ประเทศเบลเยี่ยม ร่วมเป็นสักขีพยาน

 

 

ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อร่วมกันพัฒนาชุดอุปกรณ์เครื่องรับสัญญาณวิทยุและซอฟต์แวร์ในการรับและประมวลผลสัญญาณวิทยุ สำหรับกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร (Thai National Radio Telescope: TNRT) ของหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแห่งชาติ (Thai National Radio Telescope : TNRO) การดำเนินงายภายใต้กรอบความร่วมมือฯ ดังกล่าว ประกอบด้วย การพัฒนาอุปกรณ์เครื่องรับสัญญาณในย่านความถี่แอลแบนด์ (1.0-1.8 กิกะเฮิร์ต) และ เคแบนด์ (18.0-26.0 กิกะเฮิร์ต) รวมทั้งการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อการรับและประมวลผลสัญญาณวิทยุเอนกประสงค์ ที่สามารถใช้งานได้ทั้งโหมดการใช้งานแบบจานเดี่ยว และแบบเชื่อมต่อกับเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุจากทั่วโลก วิศวกรและนักวิจัยของ สดร. ยังจะมีโอกาสเข้าร่วมฝึกอบรม ร่วมออกแบบ พัฒนา และทดสอบการทำงานของชุดอุปกรณ์และซอฟต์แวร์ดังกล่าวอีกด้วย นอกจากนี้สถาบันดาราศาสตร์วิทยุมักซ์พลังค์ยังจะให้คำปรึกษาในการติดตั้งและทดสอบการทำงานของชุดอุปกรณ์และซอฟต์แวร์ดังกล่าว หอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแห่งชาติอีกด้วย

 


 

ดร. ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สดร. มีแผนดำเนินการสร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร และ 13 เมตร ภายใต้โครงการพัฒนาเครือข่ายดาราศาสตร์วิทยุและยีออเดซี่ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานและเทคโนโลยีวิศวกรรมขั้นสูง ซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานดาราศาสตร์ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ กำหนดแผนดำเนินการระหว่างปี 2560-2563 คาดว่าจะติดตั้งแล้วเสร็จ เริ่มใช้งานประมาณปี 2564

 

 

ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ต่อการวิจัยดาราศาสตร์และฟิสิกส์ระดับรากฐาน เป็นเทคโนโลยีต้นน้ำ ที่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง การพัฒนาเทคโนโลยีด้วยตนเอง จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ปัจจุบันข้อจำกัดส่วนมากสำหรับงานวิจัยทางวิศวกรรม คือไม่มีโจทย์ที่ท้าทายและเวทีสำหรับการนำไปใช้งานจริง โจทย์ดาราศาสตร์ จึงเข้ามามีบทบาทเพื่อท้าทายเทคโนโลยีขั้นสูงต่าง เทคโนโลยีด้านคลื่นวิทยุ นับเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในโลก จะเปิดโอกาสให้เทคโนโลยีขั้นสูงหลากหลายด้านได้รับการพัฒนาขึ้น เช่น วิศวกรรม โทรคมนาคม อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ องค์ความรู้และความเชี่ยวชาญที่เกิดขึ้น ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะงานด้านดาราศาสตร์เท่านั้น เทคโนโลยีขั้นสูงเหล่านี้ยังจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการสร้างกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับสูง ที่จะสามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่ภาคอุตสาหกรรม โทรคมนาคม วิศวกรรม การแพทย์ และ วิทยาศาสตร์สาขาอื่น สอดรับนโยบายการพัฒนากำลังคนด้าน STEM ของประเทศ และตอบโจทย์ Thailand 4.0 ในอนาคต

 

 

โอกาสเดียวกันนี้ คณะได้เดินทางไปเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการขั้นสูง ที่ใช้ศึกษาวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์เพื่อใช้กับกล้องโทรทรรศน์วิทยุของสถาบันดาราศาสตร์วิทยุมักซ์พลังค์และชมการปฏิบัติงานของกล้องโทรทรรศน์วิทยุแอฟเฟลส์เบิร์ก ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 100 เมตร กล้องโทรทรรศน์วิทยุแบบ Steerable ที่มีขนาดใหญ่และใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในโลก หอดูดาวแอฟเฟลส์เบิร์ก กรุงบอนน์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 19 เม.ย. 2561 เวลา : 12:17:34
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 5:16 am