สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำหน้าที่ประธานการประชุม มีมติไม่เลือกกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชุดใหม่ ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2560
โดยที่ประชุมลงคะแนนเสียงในทางลับเห็นด้วยกับญัตติที่นายสมชาย แสวงการ เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) นำเสนอ ซึ่งนายสมชายให้เหตุผลว่ารายชื่อผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อฯ จำนวน 8 ใน 14 รายตามที่เลขาธิการวุฒิสภาเสนอมานั้น มีคุณสมบัติต้องห้าม และขาดจริยธรรม
ทั้งนี้ ที่ประชุม สนช.ที่มีผู้เข้าร่วมประชุม 163 เสียง ลงมติไม่เลือกบอร์ด กสทช.ชุดใหม่ 118 เสียง, ลงมติเลือกบอร์ด กสทช.ชุดใหม่ 25 เสียง และงดออกเสียง 20 เสียง
สำหรับ 14 รายชื่อที่ได้รับการสรรหาด้านละ 2 ชื่อ ประกอบด้วย 1.ด้านกิจการกระจายเสียง คือ พ.อ.กฤษฎา เทอดพงษ์ และ นายธนกร ศรีสุขใส 2.ด้านกิจการโทรทัศน์ คือ นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และ พล.อ.มังกร โกสินทรเสนีย์ 3.ด้านกิจการโทรคมนาคม คือ นายอธิคม ฤกษบุตร และนายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ 4.ด้านวิศวกรรม คือ พล.อ.ต.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ และ พ.อ.อนุรัตน์ อินกัน
5.ด้านกฎหมาย คือ นายมนูภาน ยศธแสนย์ และนายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร 6.ด้านเศรษฐศาสตร์ คือ ผศ.ภักดี มะนะเวศ และนายณรงค์ เขียดเดช 7.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคหรือด้านการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน คือ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี และนายวรรณชัย สุวรรณกาญจน์
ทั้งนี้ นายสมชาย กล่าวภายหลังการประชุมลับนานกว่า 3 ชั่วโมงว่า สนช.พบว่ามีบุคคลที่คุณสมบัติไม่ครบและมีลักษณะต้องห้าม จึงมีประเด็นว่าบัญชีรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาเสนอมานั้นมีจำนวนครบ 2 เท่าตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ซึ่งหาก สนช. ลงมติเลือกไปอาจมีปัญหาในทางกฎหมายได้ จึงเสนอให้สนช.ลงมติเพื่อไม่เลือกบุคคลตามบัญชีรายชื่อดังกล่าว เพื่อให้คณะกรรมการสรรหากลับไปแก้ไขข้อบกพร่อง
ขณะที่นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยด้านโทรคมนาคม สำนักวิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ อดีตผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) กล่าวว่า การชะลอกระบวนการสรรหาคณะกรรมการ กสทช. ออกไป จะทำให้เรื่องที่อยู่ระหว่างการรอการดำเนินงานต้องล่าช้าออกไป อาทิ การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ และ 1800 เมกะเฮิรตซ์ รวมถึงย่านความถี่ที่จะนำออกมาประมูลในอนาคตอาทิ 2300 เมกะเฮิรตซ์, 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ700 เมกะเฮิรตซ์ แม้ก่อนหน้านี้ กสทช.จะยกร่างหลักเกณฑ์การประมูลและเปิดทำประชาพิจารณ์ไปแล้ว แต่เนื่องจากการตัดสินใจดำเนินการจัดประมูลเป็นการตัดสินใจของบอร์ด จึงต้องรอให้ได้คณะกรรมการชุดใหม่เข้ามาเป็นผู้ตัดสินใจก่อน
นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่รอการดำเนินการ อาทิ มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการทั้งทีวีดิจิทัลและโทรคมนาคมหรือกรณีพิพาทและความชัดเจนในกิจการดาวเทียมกรณีการเยียวยาคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์จากการประมูลครั้งที่ผ่านมาการจัดสรรความถี่ สำหรับกิจการโทรคมนาคม หรือแม้แต่เรื่องสำคัญอย่างกรณีการคุ้มครองผู้บริโภคทั้งในแง่ข้อมูลและ SMS ล้วนเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องรอกรรมการกสทช. ลงมติดำเนินการทั้งสิ้น
ข่าวเด่น