รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์) หารือเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย (นายหลู่ย์ เจี้ยน) เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2561 เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทย-จีน พร้อมผลักดันความร่วมมือในระดับท้องถิ่น ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยเข้าไปดำเนินธุรกิจการค้าและการลงทุนในเมืองหลักและเมืองรองของจีน
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้หารือกับนายหลู่ย์ เจี้ยน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยกับจีน และร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจการค้า ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่า แนวคิด Beltand Road (B&R) ของท่านประธานาธิบดี สีจิ้นผิง มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของไทย โดยเฉพาะการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor (EEC)
นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ฝ่ายจีนได้แสดงความยินดีกับความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงระหว่างรัฐบาลไทยและจีน เส้นทางกรุงเทพ-หนองคาย (ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา) ซึ่งเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2560 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายหวัง เสี่ยว เทา รองประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติของจีน เป็นประธานในพิธีเปิดร่วมกัน และจีนเชื่อมั่นว่าเมื่อโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ จะช่วยขยายการค้า การลงทุน และนำไปสู่การพัฒนาความเชื่อมโยงในภูมิภาคที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ไทยเสนอเป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้าการลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับไทย (Joint Committee of Trade, Investment and Economic Cooperation between Thailand and China: JC) ครั้งที่ 6 ระดับรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นกลไกการหารือทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ ซึ่งขณะนี้รอยืนยันกำหนดการร่วมกับฝ่ายจีน โดยเวทีดังกล่าวจะเป็นโอกาสดีที่ผู้บริหารระดับสูงของทั้งสองฝ่ายจะมีโอกาสหารือแนวทางการพัฒนาความร่วมมือในสาขาต่างๆ อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ การบิน การสื่อสาร เทคโนโลยีดิจิทัล โลจิสติกส์ รวมถึงด้านการลงทุนโครงสร้างสาธารณูปโภค เพื่อพัฒนาความเชื่อมโยงทางกายภาพต่างๆ ด้วย
นอกจากนี้ ยังได้หารือแนวทางการผลักดันความร่วมมือในระดับท้องถิ่น เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์มีนโยบายสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้เข้าไปดำเนินธุรกิจการค้าและการลงทุน ทั้งในเมืองหลักและเมืองรองของจีน โดยเฉพาะในมณฑลเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำจูเจียง อาทิ เมืองกว่างโจว และเมืองเซินเจิ้นเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก และผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งจีนพร้อมสนับสนุนไทยในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ จีนมีกำหนดจัดงาน China International Import Expo ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ณ นครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะได้เจรจาธุรกิจโดยตรงกับผู้นำเข้าของจีน และนำเสนอสินค้าและบริการของไทยให้ผู้บริโภคชาวจีนได้รู้จักมากขึ้นด้วย
นายสนธิรัตน์ กล่าวเสริมว่า ในโอกาสนี้ สองฝ่ายได้ร่วมลงนาม MOU ว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง - ล้านช้าง ระหว่าง ปลัดกระทรวงพาณิชย์ (นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค) และเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย (นายหลู่ย์ เจี้ยน) เพื่อรับมอบเงินงบประมาณ 1.7 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 60 ล้านบาท สำหรับการดำเนินโครงการทางด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (กัมพูชา จีน ลาว เมียนมาร์ ไทย และเวียดนาม) ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ จำนวน 4โครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษข้ามพรมแดน โดยนำแนวคิดการทำโมเดลเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตการค้าเสรี (Free Trade Zone) อาทิ เขตการค้าเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Pilot Trade Zone) ของจีนเป็นต้นแบบ โครงการพัฒนาการอำนวยความสะดวกตามแนวชายแดน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความสอดคล้องของระบบการบริหารจัดการตามแนวชายแดน อาทิ พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า ซึ่งจะช่วยให้การปล่อยสินค้าและการบริการด้านโลจิสติกส์มีความคล่องตัวยิ่งขึ้น และช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โครงการจัดกิจกรรมเวทีภาคธุรกิจแม่โขง – ล้านช้าง เพื่อสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการแม่โขง - ล้านช้าง อาทิ การจัดงานแสดงสินค้า การจัดกิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจ การนำคณะนักธุรกิจเยือนประเทศสมาชิก และโครงการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในเขตชนบท ซึ่งจะช่วยให้ SMEs ในชนบทมีช่องทางในการจำหน่ายสินค้าและบริการได้เพิ่มมากขึ้น
ปัจจุบัน จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย โดยจีนเป็นตลาดส่งออกและนำเข้าอันดับ 1 ของไทย ในขณะที่ไทยเป็นตลาดส่งออกลำดับที่ 15 และเป็นตลาดนำเข้าลำดับที่ 10 ของจีน ในปี 2560 การค้าระหว่างไทยกับจีนมีมูลค่ารวม 73.67 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 11.9 และในปี 2561 (ม.ค.-ก.พ.) การค้าระหว่างไทยกับจีนมีมูลค่า 12.90 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2560 ร้อยละ 19.6 สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญ
ของไทย ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก เครื่องคอมพิวเตอร์/อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น ในขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าประเภทเครื่องจักรไฟฟ้า ส่วนประกอบเครื่องจักรกล ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เคมีภัณฑ์ และส่วนประกอบ/อุปกรณ์ยานยนต์ เป็นต้น
ข่าวเด่น