ณ ห้องออดิทอเรียม อาคาร 18 บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี: ดร.อ้อมใจ ไทรเมฆ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นประธานกล่าวเปิดค่าย“ค่ายวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์” (ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6) ให้กับ นักเรียนที่ได้เหรียญรางวัลโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์ (วิชาวิทยาศาสตร์) ปี 2560 ว่า สวทช. ตระหนักถึงการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนไทยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผ่านกิจกรรมเสริมสร้างประสบการณ์ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการบรรยายพิเศษ การฝึกอบรม การทำโครงงานวิทยาศาสตร์ และกิจกรรมค่ายในครั้งนี้ เพื่อให้เยาวชนได้ฝึกฝน เรียนรู้ ดังนั้น สวทช. สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) จึงร่วมกันจัดกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ ระหว่างวันที่ 24-26 เมษายน 2561 และค่ายคณิตศาสตร์ ระหว่างวันที่ 18-20 เมษายนที่ผ่านมา ให้กับนักเรียนที่ได้เหรียญรางวัลโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์ (วิชาวิทยาศาสตร์) ประจำปี 2560 เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะเชื่อมโยงกับกิจกรรมพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของ สวทช. ตลอดจนช่วยบ่มเพาะเยาวชนเหล่านี้สู่เส้นทางการเป็นนักคณิตศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์ต่อไปในอนาคต
ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวต่อว่า ความร่วมมือของทั้ง 3 องค์กรครั้งนี้ เป็นการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมค่ายและเป็นการกระตุ้นให้นักเรียนในระดับประถมศึกษาทุกสังกัดทั่วประเทศ สนใจการเรียนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มากขึ้น การปลูกฝังให้เยาวชนระดับประถมศึกษา โดยเฉพาะนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ให้ได้มีความรู้ความเข้าใจในวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์อย่างลึกซึ้ง มีทักษะกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์ จะส่งผลให้เยาวชนเติบโตเป็นคนไทยที่มีคุณภาพ อีกทั้งยังช่วยขยายผลการจัดกิจกรรมสำหรับนักเรียนผู้มีความสามาถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ระดับประถมศึกษา รวมทั้งช่วยกระตุ้นให้นักเรียนและผู้ปกครองในพื้นที่นั้นๆ เกิดความสนใจเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้นักเรียนได้รับประสบการณ์ตรงในการศึกษาจากแหล่งเรียนรู้ และปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ทุกแขนง นักเรียนได้รับการพัฒนาศักยภาพสูงยิ่งขึ้นในด้านกระบวนการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็นรายบุคคล และได้รับความรู้ความเข้าใจในกระบวนการคิดหรือวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เพื่อต่อยอดในการเรียนรู้ที่ต่อไป
ด้าน รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะ นักวิทยาศาสตร์หญิงไทยคนแรกที่พิชิตขั้วโลกใต้ ได้บรรยายและแชร์ประสบการณ์พิชิตขั้วโลกใต้ ว่า ปัจจุบันสถานการณ์น้ำแข็งในขั้วโลกละลายเยอะมาก ซึ่งเป็นผลกระทบจากภาวะโลกร้อน โดยกิจกกรรมต่างๆ ของมนุษย์ที่อยู่ในประเทศไทย เช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปล่อยควันเสีย ก็สามารถจะทำให้กระทบต่อขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ได้เหมือนกัน ซึ่งปัจจุบันพบว่าจำนวนของลูกเพนกวินที่ขั้วโลกใต้มีอัตรารอดเพียง 10 เปอร์เซนต์ จากเดิม 50 เปอร์เซนต์ อันเป็นผลจากก๊าซเรือนกระจกที่สะสมเพิ่มมากขึ้นและทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลายอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้สำหรับเยาวชนที่อยากเป็นนักวิทยาศาสตร์นั้น อยากให้ตั้งใจแน่วแน่ และสิ่งสำคัญในการเป็นนักวิทยาศาสตร์ก็คือพยายามใฝ่หาความรู้ พยายามตั้งคำถามและหาคำตอบ ด้วยการทดลองหรือการสังเกตสิ่งต่างๆ อยู่เสมอ ซึ่งกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ครั้งนี้ ของ สวทช. สสวท. และ อพวช. เป็นสิ่งที่ดีมาก ที่จะช่วยให้เยาวชนระดับชั้นประถมศึกษาได้สะสมความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ตั้งแต่เด็กๆ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญให้เด็กๆ ค้นหาความชอบในตัวเอง และเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ดีให้กับประเทศไทยได้ในอนาคต
นอกจากนี้ ยังมี ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ ผู้เชี่ยวชาญวิจัย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สวทช. ผู้ก่อตั้งชมรมคนรักมวลเมฆ และนักเขียนชื่อดัง ร่วมบรรยายและถ่ายทอดแนวคิดนักวิทยาศาสตร์
ในหัวข้อ “อาลัย Stephen Hawking นักฟิสิกส์ผู้ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา” ด้วย
ข่าวเด่น