การแก้ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนของรัฐบาล ยังต้องเผชิญกับความยากลำบาก แม้รัฐบาลจะออกมาตรการต่างๆ เพื่อสร้างรายได้ให้ผู้มีรายได้น้อย แต่จากผลสำรวจล่าสุด สะท้อนหนี้สินที่เพิ่ม เงินออมไม่เพียงพอ
โดยนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยสถานภาพแรงงานไทยกรณีศึกษาผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท โดยสำรวจ 1,194 ตัวอย่างในเดือนเมษายน พบว่าแรงงานไทยยังมีภาระหนี้สูงสุดในการสำรวจรอบ 10 ปี นับจากปี 2552 โดยมีภาระหนี้คิดเป็น 96% ของแรงงานที่ทำการสำรวจ ส่วนแรงงานที่ไม่มีภาระหนี้มีสัดส่วนเพียง 4% เท่านั้น
สาเหตุที่ทำให้เกิดภาระหนี้ ส่วนใหญ่ 36.1% เกิดจากการใช้จ่ายประจำวัน รองลงมา คือ หนี้ผ่อนชำระยานพาหนะคิดเป็น 24.9% ,หนี้จากการลงทุน 13.6% ,หนี้ที่เกิดจากที่อยู่อาศัย 10.8% , ใช้คืนเงินกู้ 7.2% ,ค่ารักษาพยาบาล 6.7% โดยภาพรวมภาระหนี้ครัวเรือนเฉลี่ยอยู่ที่ 137,988.21 บาท ผ่อนชำระเดือนละ 5,326 บาท แบ่งเป็นหนี้ในระบบคิดเป็น 65.4% ผ่อนชำระต่อเดือน 5,719.97 บาท และหนี้นอกระบบคิดเป็น 34.6% ผ่อนชำระต่อเดือน 4,761.12 บาท
ส่วนปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา พบว่าส่วนใหญ่ 85.4% เคยมีปัญหาผิดนัดชำระหนี้ สาเหตุหลักมาจากรายได้ลดลงคิดเป็น 37.7% รองลงมา คือ ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น 25.1% ,ราคาสินค้าแพงขึ้น 15.6% ,ภาระหนี้สินมากขึ้น 10.2% ,อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงขึ้น 7.7% และเศรษฐกิจไม่ดี 3.6%
ด้านการออมปัจจุบันของแรงงาน ส่วนใหญ่ 58.6% ไม่มีการออมเงิน ,มีการออมเงิน 41.4% และการออมที่ควรอยู่ในสัดส่วน 10% ของรายได้ แต่ขณะนี้สามารถออมเพียงได้เพียง 8.3% ของรายได้ ดังนั้น ปีนี้เป็นปีของการใช้เงิน และเงินไม่พอเก็บ ส่วนใหญ่ใช้เงินแบบเดือนชนเดือน
ทั้งนี้ผู้ใช้แรงงานต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือหรือดำเนินการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำทุกปี ,ลดปัญหาการว่างงาน ,ช่วยเหลือผู้ว่างงาน ,ควบคุมราคาสินค้า และดูแลค่าครองชีพ ,แก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว ,การดูแลประกันสังคมในเรื่องค่ารักษาพยาบาล ,ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และดูแลควบคุมหนี้สินนอกระบบ
นายธนวรรธน์ ได้เสนอให้รัฐบาลมีมาตรการช่วยทำให้เกิดการจ้างงานและเกิดการซื้อของลงทุนกระจายออกไปส่วนภูมิภาคมากขึ้น เพราะแม้การก่อสร้างเริ่มลงไปแล้ว แต่เม็ดเงินยังกระจุกอยู่ในบริษัทขนาดใหญ่ที่รับงานจากภาครัฐ
ข่าวเด่น