กูรูทิสโก้ชี้บอนด์ยิลด์ถึงระดับเหมาะสมของปีที่ 3% แล้ว คาดตลาดหุ้นเริ่มมีโอกาสปรับลงจำกัด แนะลงทุนใน 3 กลุ่มหลัก คือ การเงินของสหรัฐฯ, ญี่ปุ่น และตลาดเกิดใหม่ เตือนโอกาสปรับฐานอีกครั้งในไตรมาส 4 จากสภาพคล่องลด, เศรษฐกิจชะลอ และเลือกตั้งสหรัฐฯ
นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (Mr.Komsorn Prakobpol, Head of Strategy Unit, TISCO Economic Strategy Unit : TISCO ESU) เปิดเผยว่า ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตร (Bond Yield) ระยะ 10 ปีของสหรัฐฯ พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วทะลุ 3% เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี นับตั้งแต่ปี 2557 หลังความกังวลจากสงครามการค้าโลกเริ่มผ่อนคลาย ประกอบกับแรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน ส่งผลต่อเนื่องไปกดดันระดับราคาหุ้น (Valuation) และทำให้ตลาดหุ้นเกิดการปรับฐานทั่วโลก
“Bond Yield ที่เพิ่มขึ้นกดดันราคาหุ้นและทำให้ตลาดหุ้นปรับฐานทั่วโลก เป็นประเด็นที่เราเตือนนักลงทุนมาตลอดตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว” นายคมศร กล่าว
ทั้งนี้ มองว่าตลาดหุ้นที่ปรับฐานมีโอกาสปรับตัวลดลง (Downside) เริ่มจำกัดแล้ว และตลาดหุ้นน่าจะทยอยฟื้นตัวขึ้นได้ในช่วงเดือน พ.ค. เนื่องจาก Bond Yield ที่ระดับประมาณ 3% ถือเป็นระดับที่เหมาะสมในปีนี้ และคาดว่า Bond Yield จะไม่สูงเกินไปกว่านี้มากนัก เพราะ Bond Yield 10 ปีของสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้นมาอยู่สูงกว่าคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสมในระยะยาวของ Fed (FOMC longer run dot plot ซึ่งล่าสุดอยู่ที่ 2.875% ในการประชุมเดือน มี.ค.) ซึ่งชี้ว่าตลาดได้สะท้อนแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ไปมากแล้ว
อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นในปัจจุบันยังน่าสนใจ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการทยอยประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 1 ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าจะขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ประกอบกับระดับ Forward P/E (สัดส่วนราคาหุ้นต่อกำไรในอีก 12 เดือนข้างหน้า) ของดัชนี S&P500 ในปัจจุบันอยู่ที่ 16.2 เท่า ซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่า Earning Yield Gap Model ที่เราได้ทำการทดสอบออกมาอยู่ที่ระดับ 16.7 เท่า จึงน่าจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของตลาดได้ในช่วงนี้ (การคำนวน Earning Yield Gap Model เราสมมุติให้ Bond Yield เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 3% และ Earning Yield Gap (ผลตอบแทน ณ ปัจจุบันของตลาดหุ้นลบด้วยผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี) อยู่ที่ 3% จะให้ค่า Forward P/E ที่เหมาะสมของดัชนี S&P500 ที่ 16.7 เท่า)
ดังนั้น จึงแนะนำให้เน้นลงทุนในหุ้น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1) หุ้นกลุ่มการเงินของสหรัฐฯ ซึ่งจะได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้นและมีปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากการผ่อนคลายกฎระเบียบสถาบันการเงิน (Financial Deregulation) ซึ่งประธานาธิบดีทรัมป์จะผลักดันให้เกิดขึ้นในปีนี้ 2) ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ซึ่งยังเทรดที่ระดับ P/E ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว และจะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเงินเฟ้อ และ 3) ตลาดหุ้นเกิดใหม่ เช่น จีนและอินเดีย ที่มีแนวโน้มการเติบโตของกำไรสูงในระยะยาว ซึ่งจะช่วยชดเชยผลกระทบจากการลดลงของค่า P/E ได้
อย่างไรก็ดี นักลงทุนยังต้องลงทุนด้วยความระมัดระวังไปตลอดทั้งปีนี้ โดยเราประเมินว่าตลาดอาจมีความเสี่ยงที่จะปรับฐานอีกครั้งในไตรมาส 4 เนื่องจาก 1) สภาพคล่องที่ลดลงจากการลดงบดุล (Balance Sheet) ของ Fed และการยุติมาตรการ QE ของธนาคารกลางยุโรป (ECB) 2) ความเสี่ยงในการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกในปี 2019 จากการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยและผลของนโยบายกระตุ้นทางการคลังสหรัฐฯ ที่เริ่มหมดไป และ 3) ความเสี่ยงจากการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ในเดือน พ.ย. ซึ่งพรรค Republican มีโอกาสสูญเสียเสียงข้างมากในทั้งสภาบนและสภาล่าง ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการผ่านขับเคลื่อนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดีทรัมป์
ข่าวเด่น