อัตราเงินเฟ้อเดือนเม.ยพุ่งขึ้นต่อเนื่องสูงสุดในรอบ 14 เดือน นักเศรษฐศาสตร์แนะจับตาธปท.ปรับดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีหลัง
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือน เม.ย.2561 เท่ากับ 101.57 เพิ่มขึ้น 1.07% โดยเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ติดต่อกัน และเป็นอัตราที่สูงที่ สุดในรอบ 14 เดือน และเมื่อเทียบ กับเดือน มี.ค.2561 ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 0.45% ส่วนเงินเฟ้อในช่วง 4 เดือนของปี 2561 (ม.ค.-เม.ย.) เพิ่มขึ้น 0.75% ซึ่งเป็นอัตราที่ ขยับเข้ามาอยู่ในกรอบที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ที่ 0.7-1.7%
สาเหตุที่เงินเฟ้อเดือน เม.ย.เพิ่มขึ้น เป็นผลจากดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่ม 1.31% โดยสินค้าสำคัญราคาสูงขึ้น เช่น น้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่ม 3.90% หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์เพิ่ม 5.98% มาจากการปรับโครง สร้างภาษีสรรพสามิต หมวดเคหสถานเพิ่ม 1.50% ค่ารักษา และบริการส่วนบุคคลเพิ่ม 0.49% เครื่องนุ่งห่มและรองเท้าเพิ่ม 0.11% ส่วนดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่ม 0.68% สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น เช่น ผักเพิ่ม 6.82% ผลไม้เพิ่ม 0.53% อาหารบริโภคในบ้านเพิ่ม 1.24% นอกบ้านเพิ่ม 0.95% ข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้งเพิ่ม 1.40% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่ม 1.30%
ทั้งนี้เงินเฟ้อเดือน เม.ย. ที่ปรับตัวสูงขึ้นเกิน 1% ไม่ได้มีผลกระทบมาจากการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ ที่มีผลไปเมื่อวันที่ 1 เม.ย.2561 และกระทรวงฯยังคาดว่าแนวโน้มเงินเฟ้อน่า จะเกินระดับ 1% ต่อไป เพราะน้ำมันน่าจะเป็นตัวกดดันเงิน เฟ้อตลอดทั้งปี
นอกจากนี้เงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นยังมาจากปัจจัยสนับสนุนที่ภาครัฐและเอกชนมีการขยายการลงทุน ทำให้กำลังซื้อมีมากขึ้น และหากสินค้าเกษตรราคาสูงขึ้น จะเพิ่ม กำลังซื้อของคนในระดับฐานราก แต่เชื่อว่าราคาสินค้าไม่น่าจะเพิ่มขึ้นมากนัก เพราะโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ให้ซื้อสินค้าในร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ ได้มีส่วนช่วยให้ประชาชนได้ซื้อสินค้าในราคาที่ถูกลง และลดค่าครองชีพได้ โดย สนค.กำลังศึกษาว่าร้านค้าธงฟ้าประชารัฐมีส่วนทำให้ราคาสินค้าลดลง และลดค่าครองชีพได้มากน้อยแค่ไหน
ด้านนายนริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนเม.ย.ที่ปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 1% แตะกรอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่อยู่ระดับ 1-4% ถือว่าเป็นไปตามคาด เนื่องจากประเมินว่า เงินเฟ้อจะค่อยๆ เร่งตัวขึ้น ตั้งแต่ช่วงกลางปีเป็นต้นไป ตามทิศทาง ราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มสูงขึ้นจากการลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและปัญหาความตึงเครียดในตะวันออกกลาง
ซึ่งการเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้อน่าจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสนับสนุน ต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธปท. โดยคาดการณ์ว่ามีโอกาสที่ธปท.จะขึ้นดอกเบี้ย ได้ 1 ครั้ง ในช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งนี้การขึ้น ดอกเบี้ยของไทยจะขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้มากเท่าสหรัฐฯที่คาดว่าปีนี้มีโอกาส ที่ธนาคารกลางสหรัฐ จะขึ้นดอกเบี้ยถึง 4 ครั้ง
ข่าวเด่น