ทรัมป์ ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์ต่ออิหร่าน อีไอซีมองราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยทั้งปี ปรับขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 70 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงอาวุธนิวเคลียร์ที่เคยทำไว้กับอิหร่าน และจะบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจสูงสุดต่ออิหร่าน รวมถึงการพิจารณาใช้มาตรการคว่ำบาตรกับประเทศที่ให้ความช่วยเหลืออิหร่านในเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ ทั้งนี้ สหรัฐฯ กล่าวหาว่าข้อตกลงอาวุธนิวเคลียร์ดังกล่าวเป็นข้อตกลงที่มีช่องโหว่ที่เปิดโอกาสให้มีการทดลองเพิ่มประสิทธิภาพของแร่ยูเรเนียมของอิหร่าน และพัฒนาไปสู่การผลิตอาวุธนิวเคลียร์ในที่สุด
การที่สหรัฐฯ กลับมาคว่ำบาตรต่ออิหร่าน ส่งผลกระทบต่อการผลิตและการส่งออกน้ำมันของอิหร่าน แต่ไม่รุนแรงเท่ากับการคว่ำบาตรครั้งก่อนเมื่อปี 2012-2015 อิหร่านเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 5ของโลก ซึ่งเศรษฐกิจของอิหร่านพึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมันเป็นหลัก ทั้งนี้ การถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ อาจส่งผลกระทบต่อปริมาณการส่งออกน้ำมันของอิหร่านไปยังตลาดโลก ซึ่งยังไม่มีตัวเลขประกาศออกมาแน่ชัด
อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับสถานการณ์ในอดีตช่วงปี 2012-2015 ที่กลุ่ม P5+1 (สหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย จีน และเยอรมนี) เคยออกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านเรื่องโครงการนิวเคลียร์ ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกน้ำมันของอิหร่านลดลงราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน คาดว่าการที่สหรัฐฯ กลับมาคว่ำบาตรอีกครั้ง จะทำให้ปริมาณการส่งออกน้ำมันของอิหร่านไม่ลดลงมากเหมือนในอดีต เนื่องจาก 1) สหรัฐฯ เป็นประเทศเดียวที่กลับมาคว่ำบาตร ซึ่งสหรัฐฯ ไม่มีการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านอยู่แล้ว ในขณะที่กลุ่มประเทศยุโรปยืนยันไม่ถอนตัวจากข้อตกลง ซึ่งมีแนวโน้มคงการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านต่อไป ทั้งนี้ ในปี 2017 ยุโรปตะวันตกนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านราว 5 แสนบาร์เรลต่อวัน คิดเป็นสัดส่วน 24% ของการส่งออกน้ำมันดิบทั้งหมดของอิหร่าน และ 2)หากอิหร่านไม่สามารถส่งออกไปยุโรปได้ คาดว่าอิหร่านจะยังส่งออกไปจีน และอินเดีย ทดแทนการส่งออกที่น้อยลงจากเวเนซูเอล่าไปยัง 2 ประเทศนี้ เนื่องจากเวเนซูเอล่ามีปัญหาทางเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศ อีกทั้งปัจจุบันจีนมีความขัดแย้งเรื่องการค้ากับสหรัฐฯ จึงไม่น่าลดการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับระดับสูงขึ้นเล็กน้อยในระยะสั้น และกลับมาทรงตัวในระยะถัดไป ทั้งนี้ ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์จะเป็น upside risk ต่อราคาน้ำมัน มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ต่ออิหร่านมีแนวโน้มทำให้อุปทานน้ำมันดิบเกิดการตึงตัว ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับสูงขึ้นรับข่าวนี้ ทั้งนี้ การประกาศมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านในครั้งก่อนของรัฐบาลโอบามา เริ่มเมื่อเดือน กรกฎาคม 2012 ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบ Brent ปรับสูงขึ้น 10% ภายใน 2สัปดาห์
นอกจากนี้ ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitical risk) จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบเกิดการผันผวนและปรับระดับสูงขึ้นได้อีก ซึ่งปัจจุบันยังมีความตึงเครียดด้านการเมืองของประเทศผู้ผลิตน้ำมัน อย่างเวเนซูเอล่า ไนจีเรีย ซีเรีย รวมถึงความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับอิสราเอลด้วย ซึ่งความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ได้เพิ่มความกดดันต่อตลาดน้ำมันที่ค่อนข้างตึงตัวจากปัจจัยพื้นฐานด้านอุปสงค์น้ำมันที่ขยายตัวสูงขึ้นมากโดยเฉพาะจากประเทศในเอเชีย
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยอื่นที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับระดับสูงขึ้นได้อย่างจำกัด เช่น สหรัฐฯ เพิ่มแท่นขุดเจาะน้ำมัน และเพิ่มปริมาณการผลิต shale oil สูงสุดเป็นประวัติการณ์ นอกจากนี้ แม้ว่าท่าทีของ OPEC จะยังคงดำเนินตามนโยบายการลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบราว 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ต้องจับตาการประชุมของ OPECที่จะมีขึ้นในวันที่ 22 มิถุนายน นี้ที่กรุงเวียนนา ออสเตรีย ที่อาจจะพิจารณาเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันในบางประเทศสมาชิกเพื่อมาทดแทนอุปทานน้ำมันดิบของอิหร่าน
จากปัจจัยต่างๆ ดังกล่าว อีไอซีปรับการคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ Brent เฉลี่ยในปี2018 ขึ้นเล็กน้อยจาก 68 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เป็น 70 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของไทยไม่ได้รับผลกระทบจากนโยบายคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ต่ออิหร่าน เนื่องจากไทยไม่ได้มีการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านโดยตรง ทั้งนี้ ในปี 2017 ไทยมีการนำเข้าน้ำมันดิบราว 8.5 แสนบาร์เรลต่อวัน ซึ่งผู้ส่งออกหลัก 3 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย และมาเลเซีย คิดเป็นสัดส่วน 29%, 24% และ 9% ตามลำดับ
อีไอซีมองราคาน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น จะส่งผลบวกต่อผู้เล่นหลักในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมต้นน้ำอย่างบริษัทสำรวจและผลิตน้ำมัน และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ที่รายได้มีแนวโน้มสูงขึ้นจากปัจจัยสนับสนุนด้านราคา อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันที่ปรับระดับสูงขึ้นในระยะสั้นนั้นจะส่งผลลบต่อผู้ประกอบการที่มีต้นทุนน้ำมันเป็นสัดส่วนใหญ่ เช่น ธุรกิจสายการบิน ขนส่งและโลจิสติกส์ อาจต้องแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นเล็กน้อย รวมไปถึงภาคครัวเรือนผู้ใช้รถจะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันขายปลีกที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นราว 1-2%
ข่าวเด่น