กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ แนะส่งออกไทยจับตาตลาดอาหารฮาลาลในกัมพูชาบูม หลังขยายตัวตามประชากรและนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมที่มีมากขึ้น ชี้ในการเจาะตลาด ต้องผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานฮาลาล และศึกษารสนิยมการบริโภคให้ถ่องแท้ จะทำให้สินค้ามีความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง เผยยังมีโอกาสเข้าไปลงทุนทำร้านอาหาร ลงทุนผลิตเพื่อส่งออกไปตลาดมุสลิม หลังกัมพูชาผ่านพระราชกฤษฎีการับรองฮาลาลแล้ว
นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ ถึงแนวโน้มตลาดอาหารฮาลาลในกัมพูชา
โดยสำนักงานฯ ได้ให้ข้อมูลว่าปัจจุบันอาหารฮาลาลในกัมพูชามีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากจำนวนประชากรชาวมุสลิมที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น และยังมีการขยายตัวตามจำนวนนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมที่ได้เดินทางเข้าไปท่องเที่ยวในกัมพูชา ทำให้มีความต้องการบริโภคอาหารฮาลาลเพิ่มมากขึ้น
“ปัจจุบันผู้ผลิตอาหารตามหลักฮาลาลในกัมพูชายังมีส่วนน้อย ทำให้ตลาดอาหารฮาลาลในกัมพูชาถือเป็นตลาดเกิดใหม่ที่มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว จึงเป็นโอกาสดีของผู้ประกอบการไทยที่จะส่งออกสินค้า ฮาลาลไปยังกัมพูชาได้เพิ่มขึ้น แม้ว่าที่ผ่านมา กัมพูชาจะมีการนำเข้าอาหารฮาลาลจากไทยเป็นจำนวนมากแล้วก็ตาม แต่ก็ยังถือว่าเป็นสินค้าที่มีโอกาส”นางจันทิรากล่าว
ทั้งนี้ ในการส่งออกอาหารฮาลาลไปยังตลาดกัมพูชา นอกจากการผลิตสินค้าให้ได้ตามมาตรฐาน ฮาลาลแล้ว ผู้ส่งออกจะต้องใส่ใจในเรื่องรสนิยมการบริโภคอาหารในแต่ละพื้นที่ เพราะชาวมุสลิมแต่ละพื้นที่มีรสนิยมแตกต่างกัน รวมถึงนักท่องเที่ยวที่เข้าไปเที่ยวในกัมพูชา ก็มาจากหลายประเทศ หากทำให้สินค้ามีจุดเด่นเมื่อเทียบกับสินค้าของคู่แข่ง ก็จะทำให้ขยายตลาดได้ และเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค
นางจันทิรากล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา ยังได้ออกประกาศพระราชกฤษฎีการับรองมาตรฐานสำหรับอาหารฮาลาลในกัมพูชา เพื่อให้การรับรองว่าอาหารที่ได้รับตรารับรองนี้ เป็นอาหารที่ได้มาตรฐานตามหลักศาสนาอิสลามที่บัญญัติไว้ ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับชาวมุสลิมและนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมที่เดินทางมาเที่ยวในกัมพูชา หลังจากที่ก่อนหน้านี้ รัฐบาลกัมพูชาไม่มีการออกกฎระเบียบสำหรับอาหารฮาลาล และภัตตาคารหลายๆ แห่งที่มีเครื่องหมายฮาลาล ก็ยังไม่ได้การรับรองมาตรฐานอย่างถูกต้อง
อย่างไรก็ตาม การที่กัมพูชาได้ออกกฎระเบียบในการผลิตอาหารฮาลาลนี้ ยังเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะเข้าไปลงทุนเปิดร้านอาหาร หรือลงทุนผลิตอาหารในกัมพูชา เพราะสามารถจำหน่ายให้กับผู้บริโภคและนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมได้ และยังสามารถส่งออกสินค้าไปยังตลาดที่มีผู้บริโภคชาวมุสลิมเป็นจำนวนมากได้ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย เกาหลี และอีกหลายๆ ประเทศได้
จากข้อมูลสถิติการค้า ปี 2560 ไทยส่งออกไปยังตลาดโลก โดยกัมพูชาอยู่ ในอันดับที่ 12 และ
เป็นอันดับ 6 ในอาเซียน สำหรับการค้าระหว่างไทย – กัมพูชา ปี 2560 มีมูลค่ารวม 209,003 ล้านบาท
เป็นมูลค่าส่งออกไปยังกัมพูชา 178,245 ล้านบาท และนำเข้า 30,758 ล้านบาท ซึ่งไทยได้เปรียบดุลการค้า 147,487 ล้านบาท และตัวเลขการค้า 3 เดือนแรก (ม.ค.-มี.ค.) ของปี 2561 ไทยส่งออกไปยังกัมพูชา มีมูลค่า 52,782 ล้านบาท สูงขึ้น 11% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า สินค้าส่วนใหญ่ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ น้ำมัน-สำเร็จรูป เครื่องดื่ม รถยนต์ /รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ น้ำตาลทราย เครื่องยนต์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ปูนซิเมนต์ เป็นต้น
ข่าวเด่น