ความพยายามของทางการสหรัฐอเมริกาที่กดดันให้รัฐบาลไทยยอมเปิดรับเนื้อหมูสหรัฐฯ ให้เข้ามาทำตลาดในไทยนั้นมีมานานผ่านหลายช่องทาง โดยเฉพาะการกดดันผ่านผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ด้วยการกล่าวอ้างเกณฑ์ต่างๆของคณะกรรมการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (CODEX Alimentarius Commission - CAC) ที่สหรัฐฯอยู่เบื้องหลังการผลักดันให้มีการกำหนดค่าสูงสุดที่อนุญาตให้มีได้ หรือที่เรียกว่าค่า MRL ของสารเร่งเนื้อแดงแรคโตพามีน (Ractopamine) ที่สหรัฐฯอนุญาตให้มีการใช้ในการเลี้ยงสัตว์ ทั้งในการหมูและวัวเนื้อ โดยกำหนด MRL ในประเทศไว้ที่ 30 ppb (part per billion) สำหรับเนื้อวัว และ 50 ppb สำหรับเนื้อหมู การผลักดันให้ CODEX กำหนดมาตรฐานนี้ จึงเป็นการเปิดทางให้เนื้อหมูและเนื้อวัวที่มีสารเร่งเนื้อแดงของตนเองสามารถเข้าไปทำตลาดในประเทศต่างๆได้ กระทั่งความพยายามเป็นผลเมื่อคณะกรรมการ CODEX มีมติอย่างไม่เป็นเอกฉันท์ที่ 69/67 เสียง ให้กำหนดค่า MRL ของ Ractopamine ที่ 10 ppb ตั้งแต่กรกฎาคม 2555 เป็นต้นมา ซึ่งข้อกำหนดนี้กลายเป็นอาวุธลับที่สหรัฐฯสามารถนำไปกล่าวอ้างกับทุกประเทศเป้าหมายได้อย่างชอบธรรม
มาตรฐานของ CODEX นี้ถูกยกขึ้นมาเป็นไม้ตายของสหรัฐฯอีกครั้ง ในการเจรจาด้านการค้าระหว่างไทย-สหรัฐฯ ที่คณะของกระทรวงพาณิชย์ ไปร่วมประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุนไทย-สหรัฐฯ ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา เรื่องนี้ กฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บอกว่า มีการหยิบยกเรื่องการนำเข้าเนื้อหมูสหรัฐฯในการหารือกันด้วย โดยสหรัฐฯยืนยันว่าหมูเนื้อแดงที่จะส่งออกมาประเทศไทยนั้น ผ่านการรับรองมาตรฐาน CODEX และไม่มีสารปนเปื้อนที่เป็นภัยต่อร่างกาย ขณะที่ฝ่ายไทยได้แจ้งว่า ไทยยอมรับในมาตรฐานดังกล่าว แต่คนไทยและคนเอเชียรับประทานหมูทุกส่วนทั้งเนื้อหมู หัว เครื่องใน หนัง มัน ฯลฯ แถมคนไทยยังมีวัฒนธรรมการกินที่แตกต่างทั้งการกินหมูแบบสุก แบบดิบ กึ่งดิบกึ่งสุก เช่น ลาบ ลู่ และเนื้อแดงๆ ผิดกับชาวยุโรปและอเมริกันที่รับประทานเฉพาะเนื้อหมู จึงขอให้สหรัฐตั้งคณะทำงานร่วมมาดูพฤติกรรมการรับประทานเนื้อหมูของคนไทย และทำการวิจัยว่าจะมีผลกระทบกับสารเร่งเนื้อแดงหรือไม่ โดยคาดว่าจะใช้เวลาศึกษาราว 1 ปี
ประสิทธิ์ หลวงมณี ประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกร 4.0 ร้อยเอ็ด จำกัด บอกว่า คนเลี้ยงหมูทั่วประเทศหวั่นใจว่าในอนาคตรัฐบาลอาจเปิดรับเนื้อหมูที่มีสารเร่งเนื้อแดงของสหรัฐเข้ามาทำร้ายผู้บริโภคและเกษตรกรไทย ซ้ำเติมความทุกข์ของคนเลี้ยงหมูทั่วประเทศจากสถานการณ์ราคาหมูตกต่ำมากว่า 10 เดือนแล้ว และวันนี้ยังต้องกังวลกับการรุกคืบของหมูสหรัฐฯ ที่ทำทุกวิถีทางเพื่อผลักดันให้เศษเหลือทั้งหัว ขา เครื่องใน ที่คนอเมริกาไม่กิน เข้าไปทำตลาดในตลาดอื่นๆ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียรวมถึงไทยที่นิยมบริโภคชื้นส่วนเหล่านี้ จึงเหมาะสมที่จะรับผลิตภัณฑ์เหลือทิ้งของมะกัน
“เกษตรกรทุกคนอยากฝากถึงท่านนายกฯ ประยุทธ จันทร์โอชา ว่าปัจจุบันหมูไทยมีมากจนล้นตลาด เกษตรกรต้องแบกรับภาระขาดทุนต่อเนื่อง จนหลายคนต้องเลิกเลี้ยงหมูแล้ว วันนี้หมูร้อยเอ็ดก็ไม่มีที่จะขายเพราะมีมากเกินล้นตลาดจำต้องยอมขายให้พ่อค้าในราคาถูกๆ เกษตรกรทั้งหมดขอยืนยันคัดค้านการนำเข้าหมูสหรัฐฯอย่างถึงที่สุด คนร้อยเอ็ด กินหมูร้อยเอ็ด คนโคราช กินหมูโคราช คนไทย ก็ต้องกินหมูไทย แล้วทำไมท่านนายกฯต้องเอาหมูสหรัฐมาให้คนไทยกิน ขอให้ท่านนายกฯ เอาอย่างทรัมป์ ที่ปกป้องรักษาอาชีพเกษตรกรของเขา ท่านนายกก็ต้องปกป้องเกษตรกรคนไทยของท่านเอง ทุกวันนี้หมูก็มีมากเกินกว่าที่คนไทยจะกินได้ แล้วยังจะปล่อยให้หมูสหรัฐเข้ามาเหยียบย่ำคนไทยอีกหรือ” ประสิทธิ์ บอกและว่า
ภาครัฐต้องคิดถึงคนไทยเป็นสำคัญ เพราะสารเร่งเนื้อแดงที่อยู่ในเนื้อหมูสหรัฐนั้นเป็นภัยร้ายที่แฝงมาทำร้ายสุขภาพคนไทย ซึ่งวงการเลี้ยงหมูรวมถึงหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต่างเดินหน้าปราบปรามการใช้สารเร่งเนื้อแดงเพื่อปกป้องความปลอดภัยในอาหารเพื่อผู้บริโภคมาตลอด จนมีกฎหมายควบคุมเรื่องนี้มากว่า 16 ปี การใช้สารเร่งเนื้อแดงกับเนื้อสัตว์จึงถือว่าผิดกฎหมาย ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 269 พ.ศ. 2546 ซึ่งหากมีการนำเข้าเนื้อหมูสหรัฐจริงนั่นเท่ากับค้านกับกฎหมายไทย และไม่ต่างกับการนำเข้าระเบิดเวลาเข้ามาทำลายสุขภาพและความปลอดภัยในอาหารของคนไทย
ท้ายนี้ต้องขอส่งแรงเชียร์ให้รัฐบาลไทยยืนหยัดปกป้องชาวไทยจากโทษภัยของสารเร่งเนื้อแดง และช่วยปกป้องอาชีพให้กับคนไทยอย่าเปิดบ้านให้หมูสหรัฐเข้ามาทำร้ายคนไทยเลย
ข่าวเด่น