การประกอบธุรกิจซื้อขายแลกเปลี่ยนคริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัล กำลังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้ไทยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และล่าสุดกระทรวงการคลังได้ออกกฎหมายควบคุมดูแล เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ
โดยเมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2561 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ "พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 " โดยมีเหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ ในปัจจุบันได้มีการนำคริปโทเคอร์เรนซี และโทเคนดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือในการระดมทุนผ่านการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน รวมถึงนำมาซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนในศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัล แต่ยังไม่มีกฎหมายที่กำกับหรือควบคุมการดำเนินการดังกล่าวในประเทศไทย ทำให้มีการประกอบธุรกิจหรือ การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงิน ระบบเศรษฐกิจของประเทศและเกิดผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง
ดังนั้นเพื่อรองรับการนำเทคโนโลยีมาทำให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน อันจะเป็นการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบธุรกิจที่มีศักยภาพมีเครื่องมือในการระดมทุนที่หลากหลาย รวมทั้งประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องมีข้อมูลที่ชัดเจนเพียงพอเพื่อใช้ในการตัดสินใจ เกิดความโปร่งใสในการดำเนินการ และป้องกันมิให้มีการนำสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่มีแหล่งที่มาที่ชัดเจนไปใช้ประโยชน์หรือกระทำการใดในลักษณะที่เป็นการหลอกลวงประชาชนหรือที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชญากรรม และโดยที่เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วน อันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนด
ซึ่งกฎหมายฉบับนี้มีทั้งหมด 9 หมวด รวม 100 มาตรา โดยได้มอบอำนาจให้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) มีหน้าที่ในการกำกับดูการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ตั้งแต่การวางนโยบายเกี่ยวกับ การส่งเสริมและพัฒนา ตลอดจนกำกับและควบคุมสินทรัพย์ดิจิทัล และผู้ประกอบธุรกิจ สินทรัพย์ดิจิทัล และหากมีการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลอันอาจก่อให้เกิดผลกระทบ หรือความเสียหายอย่างรุนแรงให้คณะกรรมการ ก.ล.ต.รายงานข้อเท็จจริง และประเมินผลกระทบ วิเคราะห์ปัญหาและเสนอแนวทางการดำเนินการ ต่อรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาโดยเร็ว นอกจากนี้ยังกำหนดให้สำนักงาน ก.ล.ต.มีหน้าที่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำ ความผิดและการลงโทษบุคคล ซึ่งกระทำความผิดตามพ.ร.ก.
สำหรับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้ประกอบธุรกิจไปก่อนที่กฎหมายฉบับนื้จะบังคับใช้ และเป็นธุรกิจที่ต้องขออนุญาตตามกฎหมายฉบับนี้ หากจะทำธุรกิจต่อไป จะต้องยื่นขออนุญาตภายใน 90 วันนับจากวันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้
นอกจากนี้ห้ามมิให้บุคคลใดวิเคราะห์หรือคาดการณ์ฐานะทางการเงิน ผลการ ดำเนินงาน ข้อมูลอื่นใดที่เกี่ยวกับผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัล ลักษณะหรือสาระสำคัญของ โทเคนดิจิทัล หรือราคาซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล โดยนำข้อมูลที่รู้ว่าเป็นเท็จหรือไม่ครบถ้วน อันอาจก่อให้เกิดความสำคัญผิดในสาระสำคัญ มาใช้ในการวิเคราะห์หรือคาดการณ์หรือละเลย ที่จะพิจารณาความถูกต้องของข้อมูลดังกล่าว หรือโดยบิดเบือนข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์หรือ คาดการณ์ และได้เปิดเผยหรือให้ความเห็น พร้อมกันนี้ได้กำหนดบทลงโทษสำหรับเสนอกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายไว้หลายกรณีที่มีทั้งโทษทางอาญาและโทษทางแพ่ง จำคุก ตั้งแต่ 3 เดือน แต่ไม่เกิน 5 ปี เป็นต้น
ราชกิจจาฯยังเผยแพร่ พระราชกำหนดเพื่อจัดเก็บภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดาจากเงินได้พึงประเมินที่ได้จาก การถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัล หรือการโอน คริปโตเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล ในอัตรา 15% โดยมาจากเงินส่วนแบ่งของกำไร หรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกันที่ได้จากการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัล และผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอน คริปโตเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล
ข่าวเด่น