หลังจากที่ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เพื่อเป็นกฎหมายรองรับการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี ได้ส่งผลให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเกิดความเชื่อมั่นที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซีมากขึ้น โดยทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ตั้งเป้าไว้ในปีนี้ว่า จะมีผู้ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี ราว 350,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ในระดับ 290,000 ล้านบาท
ซึ่ง ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกบอกว่า เมื่อพ.ร.บ.มีผลบังคับใช้ จะทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นและสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซีมากขึ้น จากที่ก่อนหน้านี้มีความลังเลในการตัดสินใจ จึงตั้งเป้าหมายไว้ในปีนี้ว่า จะมีผู้มายื่นขอส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี กับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอประมาณ 350,000 ล้านบาท จากเป้าหมายโดยรวมของบีโอไอที่ตั้งไว้ที่ 720,000 ล้านบาท ดังนั้นเป้าหมายดังกล่าว จึงไม่น่าจะเกินความสามารถในการดำเนินงาน เนื่องจากในช่วงไตรมาสแรกมีนักลงทุนมายื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนกับบีโอไอใน10กลุ่มอุตสาหกรรม เป้าหมายแล้ว 184,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเม็ดเงินที่อยู่ในอีอีซีถึง 166,000 ล้านบาท
ดังนั้น จากระยะที่เหลือนี้ทาง สำนักงานฯจะเร่งจัดทำแผนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อออกไปเชิญชวนนักลงทุน(โรดโชว์) ในประเทศเป้าหมายเช่น ญี่ปุ่น เพิ่มมากขึ้น แม้ว่าที่ผ่านมาจะเป็นนักลงทุนกลุ่มใหญ่ที่ลงทุนอยู่แล้ว อีกทั้งการไปตอกย้ำนักลงทุนของจีน รวมถึงนักลงทุนจากเกาหลีใต้ เพื่อเชิญชวนนักลงทุนให้มาลงทุนในพื้นที่อีอีซีให้มากขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจ
อีกทั้ง ในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการที่จะเดินทางไปฝรั่งเศส เพื่อเป็นสักขีพยาน ในการลงนามร่วมทุนระหว่างบริษัทแอร์บัสฯและบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) ในโครงการก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา(MRO) มูลค่าการลงทุน 11,000 ล้านบาท จะเป็นอีกหนึ่งเวทีที่จะเชิญชวนนักลงทุนต่างๆ และนักลงทุนจากอังกฤษ
ส่วนการดำเนินงานหลังจากพ.ร.บ.อีอีซี มีผลบังคับใช้แล้ว จะต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายฯขึ้นมาใหม่ภายใน 60 วัน โดยมีการเพิ่มเติมตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงจาก 6 กระทรวง เป็น 14 กระทรวง จากกรรมการทั้งหมด 28 คน รวมทั้งต้องแต่งตั้งเลขาธิการขึ้นมาภายใน 90 วัน ซึ่งไม่น่าจะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงาน เนื่องจากระหว่างนี้ในกฎหมาย ตามมาตรา 69 กำหนดให้คณะกรรมการและเลขาธิการเดิม สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อเนื่องได้ จนกว่าจะมีการแต่งตั้งขึ้นมาใหม่
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การที่ พ.ร.บ.อีอีซี มีผลบังคับใช้จะสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติว่าโครงการต่างๆ จะขับเคลื่อนไปได้ โดยในปลายเดือน พ.ค.นี้ จะชี้แจงกฎหมายอีอีซีพร้อมนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายคณิศ เลขาธิการสำนักงานอีอีซี ให้กับเอกอัครราชทูตทุกประเทศที่ประจำประเทศไทย เพื่อให้นำข้อมูลไปเผยแพร่ต่อนักลงทุน
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาห กรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เชื่อว่า จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ มากยิ่งขึ้น และจะให้เกิดการผลักดัน ให้นักลงทุนตัดสินใจเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซีมากยิ่งขึ้น โดยขณะนี้จะเห็นว่ามีการยื่นขอรับการ ส่งเสริมการลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เข้ามายังพื้นที่อีอีซีอย่าง ต่อเนื่อง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมาย
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย มองว่า จากนี้ไป จะทำให้การตัดสินใจการลงทุนมีมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมีนักลงทุน 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่จะเข้ามาลงทุนในไทยแน่นอน และ 2.กลุ่มท่รอดูสถานการณ์จริง เมื่อเห็นว่าเศรษฐกิจไทยดีแน่นอน การลงทุนอีอีซีไปแน่ ก็จะตัดสินใจตามมาภายหลัง
ข่าวเด่น