ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ประเมินการส่งออกของไทยปี 2561 โตได้ถึง 8.6% จากปัจจัยด้านราคาที่สูงขึ้นทั้งกลุ่มสินค้าเกษตร สินค้าโภคภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน และปัจจัยด้านปริมาณจากการขยายตัวต่อเนื่องของประเทศคู่ค้า
ภาคการส่งออกไทยใน 4 เดือนแรกของปี 2561 ทะยานขึ้นต่อเนื่องจากปีก่อนอีก 11.5% ด้วยมูลค่าการส่งออกเฉลี่ย 20,444 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อเดือน จากปัจจัยบวกทั้งด้านราคาสินค้าตามผลของราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และด้านปริมาณตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการผลิต ส่งผลให้เกือบทุกกลุ่มสินค้าและเกือบทุกตลาดสำคัญเติบโตได้ดี
สำหรับมูลค่าการส่งออกไทยในช่วง 8 เดือนที่เหลือของปี 2561 ศูนย์วิเคราะห์ฯ คาดว่ามีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องแต่ในอัตราที่ชะลอตัวลงด้วยผลของฐานสูง ซึ่งการขยายตัวเป็นผลมาจากทั้งราคาและปริมาณที่เพิ่มขึ้น จากการศึกษาความสัมพันธ์ของราคาน้ำมันในตลาดโลกกับราคาสินค้าส่งออกในกลุ่มสินค้าเกษตรและสินค้าโภคภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน มีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกัน คือ ผลของราคาน้ำมันดิบที่เปลี่ยนแปลงทุก 1% จะทำให้ราคาสินค้าส่งออกเปลี่ยนไปในทิศทางเดียวกันประมาณ 0.11% ซึ่งศูนย์วิเคราะห์ฯ มองว่า ราคาน้ำมันในตลาดโลกในช่วงที่เหลือจะเฉลี่ยอยู่ที่ 71 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาเรล หรือเพิ่มขึ้น 30% จากช่วงเดียวกันของปี 2560 ที่ประมาณ 55 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาเรล ดังนั้น ผลทางด้านราคาที่เพิ่มขึ้นจะทำให้มูลค่าส่งออกในกลุ่มสินค้าเกษตร ยางพารา เคมีภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป และเหล็ก ที่มีสัดส่วนถึง 1/4 ของมูลค่าส่งออกรวมจะปรับตัวสูงขึ้น
นอกจากนี้ สถานการณ์ทิศทางเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่อง โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2561 จะขยายตัวได้ 3.9% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ขยายตัวได้ 3.7% และทิศทางการนำเข้าสินค้าโลกในปี 2561 ที่คาดว่าจะเติบโต 5.7% จาก 5.5% ในปีก่อนหน้า นำโดยประเทศสหรัฐฯ กลุ่มประเทศยูโรโซน กลุ่มประเทศอาเซียน-5 และ CLMV ก็เป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่ทำให้ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น นอกจากปัจจัยหนุนปริมาณการส่งออกที่เติบโตจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวดังกล่าวข้างต้น การส่งออกไทยยังได้รับปัจจัยส่งเสริมจากการที่สหรัฐฯต่ออายุสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) กับไทยในปี 2561-2563 โดยได้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 22 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางค้าของสหรัฐฯที่อาจมีต่อไทย และต้นทุนการส่งออกสินค้าของไทยไปสหรัฐฯ ได้ ดังนั้น ผลทางปริมาณที่เพิ่มขึ้นจากการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและการต่ออายุ GSP จะส่งผลทำให้มูลค่าการส่งออกในกลุ่มรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องนุ่งห่มและอัญมณี และอาหาร ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 2/3 ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดเพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิเคราะห์ฯ จึงประเมินว่า การส่งออกไทยทั้งปี 2561 จะเติบโตที่ 8.6% (สูงกว่าคาดการณ์เดิมที่ 4.8% ณ มกราคม 2561)
อย่างไรก็ตาม ในระยะถัดไป ยังคงมีประเด็นความเสี่ยงที่ผู้ส่งออกต้องติดตามอย่างใกล้ชิดอยู่ ได้แก่ 1) สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่แม้ว่าผลกระทบต่อการค้าไทยในระยะสั้นยังค่อนข้างจำกัด แต่ในระยะปานกลางถึงยาวยังคงต้องเฝ้าระวังติดตาม และ 2) เงินบาทที่มีทิศทางแข็งค่าต่อเนื่อง โดยศูนย์วิเคราะห์ฯ คาดว่า ณ สิ้นปี 2561 อัตราแลกเปลี่ยนจะอยู่ที่ระดับ 31.0 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นจากระดับปัจจุบัน 3.5% จากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้นต่อเนื่องทั้งจากรายได้การส่งออกสินค้า การท่องเที่ยว และด้วยแรงหนุนจากเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) แนะว่าผู้ส่งออกควรมองหาเครื่องมือที่จะช่วยป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน เพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากทิศทางค่าเงินบาทแข็งค่า และบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้สถานการณ์ต้นทุนที่มีทิศทางเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยรักษาอัตรากำไรและพยุงขีดความสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ต่อไป <
ข่าวเด่น