กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ นำผู้แทนจาก 32 ร้าน “ไทย ซีเล็กท์พรีเมียม” และ “ไทย ซีเล็กท์” ใน 18 ประเทศ ร่วมงาน THAIFEX พร้อมศึกษาธุรกิจบริการ อาหารไทยครบวงจร เพื่อสร้างโอกาสเจรจาธุรกิจ แลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้ หวังเกิดการพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการร้านอาหารไทยในต่างประเทศ ตลอดจนกระตุ้นการเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหาร และวัตถุดิบอาหารไทยในตลาดโลก
นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้ดำเนินโครงการครัวไทยสู่ครัวโลกโดยกลยุทธ์หนึ่งที่สำคัญคือการพัฒนาและส่งเสริมการบริการอาหารไทย ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งในการส่งเสริมการส่งออกวัตถุดิบการปรุงอาหารไทยและสิ่งปรุงรสของไทยไปยังต่างประเทศ รวมถึงการส่งเสริมสินค้าอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง หนึ่งในกิจกรรมส่งเสริมหลักคือ การมอบตราสัญลักษณ์รับรองให้แก่ร้านอาหารไทยในต่างประเทศ ได้แก่ Thai SELECT Premium (ไทย ซีเล็กท์พรีเมียม) สำหรับร้านที่ให้บริการอาหารไทยแท้คุณภาพยอดเยี่ยม 5 ดาว มีการร้านตกแต่งร้านสวยงามและบริการเป็นเลิศ และ Thai SELECT (ไทย ซีเล็กท์) สำหรับร้านอาหารไทยที่มีคุณภาพเยี่ยมระดับ 3 ถึง 4 ดาว ให้บริการอาหารไทยต้นตำรับคุณภาพดี ซึ่งปัจจุบันได้มอบแล้วจำนวน 1,299 ราย แบ่งเป็นภูมิภาคอเมริกา 582 ราย / ยุโรป 331 ราย / เอเชีย 322 ราย /โอเชียเนีย 31 ราย / ตะวันออกกลางและแอฟริกา 33 ราย ทั้งนี้ มีร้านอาหารไทยที่ได้รับตราสัญลักษณ์ไทย ซีเล็กท์ พรีเมียม จำนวน 237 ราย และไทย ซีเล็กท์ จำนวน 1,062 ราย ขณะเดียวกันยังมีผลิตภัณฑ์อาหารไทยสำเร็จรูปที่ได้รับตราไทย ซีเล็กท์ อีก 449 ผลิตภัณฑ์จาก 40 บริษัท
“เพื่อให้เกิดการพัฒนาและส่งเสริมการบริการอาหารไทยอย่างต่อเนื่อง กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยสำนักส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม ได้ดำเนินโครงการพัฒนา สร้างภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ตรา Thai SELECT ผ่านร้านอาหาร Thai SELECT ขึ้นเป็นปีที่สองระหว่างวันที่ 29 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน 2561 เพื่อเชิญผู้ประกอบการร้านอาหาร พ่อครัว แม่ครัว หรือผู้ที่มีอำนาจในการบริหารจัดการร้านไทย ซีเล็กท์พรีเมียมและร้านอาหารไทย ซีเล็กท์ จำนวน 32 ร้าน จาก 18 ประเทศ อาทิ แคนาดา,สหรัฐอเมริกา, เม็กซิโก, นอร์เวย์, เดนมาร์ก, ฝรั่งเศส, เนเธอร์แลนด์, สาธารณรัฐเช็ก,โปแลนด์, รัสเซีย, จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ และกัมพูชา เป็นต้น มาร่วมกิจกรรมในประเทศไทยเพื่อพัฒนาและรักษาคุณภาพร้านอาหาร รูปแบบการให้บริการ ตลอดจนสูตรอาหารไทยแท้ที่ถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญ ร่วมเจรจาการค้าและสร้างโอกาสใหม่กับผู้ประกอบการไทยที่เข้าร่วมงาน THAIFEX – World of Food Asia 2018 รวมถึงการเยี่ยมชมแหล่งผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่ได้มาตรฐานสากล และสถาบันสอนทำอาหาร
การดำเนินโครงการฯ ในปีนี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศคาดหวังให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้นำความรู้ รวมถึงประสบการณ์ที่ได้รับไปใช้พัฒนา ปรับปรุงรายการอาหารไทยและการให้บริการอาหารไทยของตนเอง สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการจากการได้พบปะเจรจาการค้าระหว่างผู้ประกอบการร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการกับนักธุรกิจ/ตัวแทนจำหน่ายสินค้าเกษตรและอาหารของไทย ทั้งยังต้องการสร้างการรับรู้ไปยังร้านอาหารไทยในต่างประเทศอื่นๆ ให้พัฒนาการให้บริการของตนเองและสมัครเข้ารับตราสัญลักษณ์รับรองมาตรฐานดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวของการส่งออกสินค้าอาหารและบริการอาหารของไทยทั้งในด้านปริมาณและมูลค่า สามารถรักษาตลาดส่งออกสินค้าอาหารของไทย ขยายการส่งออกสินค้าอาหารไปยังตลาดใหม่ ส่งเสริมการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารไทยสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน รวมถึงสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจบริการอาหารไทย อาทิ ผ้ารองจาน อุปกรณ์บนโต๊ะอาหารที่สำคัญคือสามารถรักษาการเป็นประเทศผู้นำในการส่งออกสินค้าอาหารและธุรกิจบริการด้านอาหารของประเทศไทยได้อย่างยั่งยืนต่อไป”
สำหรับกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นภายใต้โครงการนี้ได้แก่ กิจกรรม Experience Thai SELECT in THAIFEX – World of Food Asia 2018 พร้อมทั้งเจรจาการค้ากับผู้ผลิต/ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารไทยหรืออาหารไทยสำเร็จรูปพร้อมรับประทานที่ได้รับตราไทย ซีเล็กท์ ภายในงานฯ การเยี่ยมชมแหล่งผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่ได้มาตรฐานสากล (Farm and Factory Visit) ได้แก่ ปฐมออร์แกนิกฟาร์ม และ โรงงาน บริษัท ไทยโคโคนัท จำกัด(มหาชน) เพื่อศึกษากระบวนการผลิต และแลกเปลี่ยนแนวโน้มตลาดและความต้องการสินค้ากับผู้ผลิตอาหารของไทย การเยี่ยมชมสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อศึกษาเกี่ยวกับนวัตกรรมสินค้าอาหารของไทย กิจกรรมเยี่ยมชมสถาบันสอนทำอาหาร ณ SNP Headquarter เพื่อชมการสาธิต การปรุงอาหารไทยและการจัดจาน (Food Presentation) พบปะผู้มีความรู้และประสบการณ์ในการปรุงอาหารไทย เพื่อร่วมกันพัฒนาและปรับปรุงการนำเสนออาหารไทย และสามารถนำไปต่อยอดเป็นรายการอาหารใหม่ๆ ของร้าน กิจกรรมสำรวจตลาด/ย่านการค้าสินค้าอาหาร ณ บ้านบางเขน ปิดท้ายกับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและ องค์ความรู้ระหว่างร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการฯ และผู้เชี่ยวชาญด้านการปรุงอาหารไทยหรือผู้ที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจบริการร้านอาหารไทยได้แก่ อาจารย์วันดี ณ สงขลา ผู้ก่อตั้ง Wandee Culinary Art School และ เชฟ ชาลี การ์เดอร์ ผู้ก่อตั้งร้านอาหารไทย 100 Mahaseth และร้านอาหารประเภทอื่นๆ อาทิ Holy Moly, Surface และ Garden Lab เป็นต้น เพื่อนำไปต่อยอดให้กับการดำเนินงานของตัวเองในอนาคตต่อไป
ข่าวเด่น