แม้อันดับความสามารถในการแข่งขันของไทยในปี 2561 จะลดลง 3 อันดับมาอยู่ที่ อันดับ 30 ในปีนี้ แต่รัฐบาลยังมั่นใจว่านโยบาบที่ดำเนินการจะส่งผลดีต่อประเทศในระยะยาว ประกาศเดินหน้าโครงการต่อ
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดย IMD ประจำปี 2561 ซึ่งประเทศไทยมีอันดับลดลงจากอันดับที่ 27 เมื่อปีที่แล้ว เป็น อันดับที่ 30 ในปีนี้ ว่า สาเหตุหลักส่วนหนึ่งมาจากการใช้นโยบายงบประมาณขาดดุลของรัฐบาล เพื่อนำเงินไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ทำให้กระทบต่อปัจจัยการประเมินด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ โดยเชื่อว่าเป็นผลกระทบในระยะสั้นเท่านั้น แต่ในระยะยาวการลงทุนนี้จะช่วยยกระดับขีดความสามารถของประเทศและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวม
ขณะที่ประสิทธิภาพของรัฐเรื่องอื่นๆ ที่ได้รับการยอมรับเป็นอย่างมาก เช่น การแก้ไขกฎระเบียบและปรับปรุงขั้นตอนการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐให้มีความสะดวกต่อการดำเนินธุรกิจ การปรับปรุงอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อัตราภาษีการบริโภค การสร้างแรงจูงใจในการลงทุน ฯลฯ
ส่วนปัจจัยการประเมินอีก 3 ด้าน คือ ด้านโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะสาธารณูปโภคพื้นฐาน และโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ ที่เกิดจากการลงทุนของรัฐบาล มีอันดับดีขึ้น และด้านสภาวะเศรษฐกิจกับด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจนั้น มีอันดับคงเดิม
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีย้ำว่าแม้อันดับโดยรวมของไทยจะลดลง เป็นทิศทางเดียวกับประเทศอื่นในอาเซียน แต่คะแนนดิบที่ได้รับคือ 79.450 ยังคงสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยของโลกที่ 76.61 และอยู่ในอันดับที่ 3 ของอาเซียนรองจากสิงคโปร์และมาเลเซียเช่นเดียวกับปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านอื่น ๆ เช่น ด้านสังคม การศึกษา และสาธารณสุขเพิ่มมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนและความจำเป็นในการพัฒนาประเทศ ซึ่งจะช่วยเสริมให้อันดับของไทยดีขึ้นต่อไป
ขณะที่ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า อันดับความสามารถในการแข่งขันของไทยที่ลดลงในปีนี้ รัฐบาลไม่ได้รู้สึกกังวลมากนัก โดยเฉพาะในส่วนของประสิทธิภาพของภาครัฐ เนื่องจากอันดับที่ลดลงนั้นมาจากการขาดดุลภาคการคลังที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศอย่างต่อเนื่อง อันถือเป็นการลงทุนเพื่ออนาคต
ส่วนของการจัดอันดับที่ลดลง จากการที่บริษัทมีการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพจากลูกจ้างเพิ่มขึ้นนั้น รัฐบาลยังยืนยันว่า จะดำเนินนโยบายในส่วนนี้ต่อไป เพราะนโยบายที่บริษัทเรียกเก็บเงินนำส่งเข้ากองทุนฯ ในส่วนของลูกจ้างเพิ่มขึ้นนั้น เพื่อเป็นการเตรียมการสำหรับรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในประเทศไทย เพราะไม่เช่นนั้นจะเป็นภาระของรัฐบาลในอนาคต
ดังนั้นหากไม่มีการเตรียมการเรื่องนี้แต่เนิ่นๆ ในอนาคตก็จะมีปัญหา เพราะปัญหาหลักของประเทศไทยคือ สังคมผู้สูงวัย การที่มีบริษัทเอกชนทำเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ไม่ว่าคะแนนจะลดลง แต่รัฐบาลจะยังคงเดินหน้าตามแนวทางนี้ต่อไป
อย่างไรก็ตามรัฐบาล เตรียมมอบหมายให้แก่ นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือเลขาสภาพัฒน์คนใหม่ ให้ไปหาแนวทางเพื่อตอบโจทย์เรื่องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย โดยให้หาดัชนีตัวอื่นที่สามารถควบคุมได้ มาช่วยชดเชยดัชนีบางตัวที่อันดับลดลงไป เช่น การเข้าถึงดิจิทัล
นอกจากนี้ เชื่อว่าในปีถัดไปประเทศไทยจะได้รับการจัดอันดับขีดความสามารถทางการแข่งขันในอันดับที่ดีขึ้นกว่าปีนี้ เพราะล่าสุด จากภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/61 ที่ขยายตัวได้ถึง 4.8% และเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 5 ปี ซึ่งจะมีผลให้ดัชนีเศรษฐกิจในประเทศตัวอื่นๆ ปรับตัวดีขึ้นด้วย และน่าจะช่วยให้อันดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยในอนาคต ติดอยู่ใน 20 อันดับตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ
ข่าวเด่น