สำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้จัดงานสัมมนาวิชาการเวทีสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) (FPO Forum) ภายใต้โครงการขยายบทบาทสำนักงานเศรษฐกิจการคลังสู่ภูมิภาค ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ครั้งที่ 3/2561 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน 2561 เวลา 08.00 – 15.00 น. ณ ห้องประชุมศรีลำดวน 1 โรงแรม ศรีลำดวน อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ โดยได้รับเกียรติจากนายสันติธร ยิ้มละมัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวต้อนรับ และนายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวเปิดการสัมมนา
การสัมมนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเกี่ยวกับนโยบายของกระทรวงการคลังที่ผ่านมาและอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยเน้นเรื่องโอกาสทางเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การวางแผนทางการเงินของประชาชนทั่วไปสำหรับวัยเกษียณ แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ และบทบาทของภาครัฐในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อย
การสัมมนาในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมจากภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ สถาบันการศึกษา และประชาชนผู้สนใจจากจังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ อุบลราชธานี สุรินทร์ และยโสธร รวมทั้งสิ้น 231 คน นายสันติธร ยิ้มละมัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจของจังหวัด ศรีสะเกษว่า ศรีสะเกษเป็นจังหวัดขนาดใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพหลักคือเกษตรกรรม พืชเศรษฐกิจสำคัญ เช่น ข้าวหอมมะลิ หอม กระเทียม ยางพารา มันสำปะหลัง พริก ผลไม้ต่าง ๆ เป็นต้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทุเรียนที่ปลูกจากดินภูเขาไฟซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่กำลังได้รับความนิยม จังหวัดศรีสะเกษตั้งเป้าหมายเป็นดินแดนเกษตรปลอดภัยและการค้าการท่องเที่ยวครบวงจร โดยมุ่งหน้าเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรให้เป็นเมืองแห่งผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ภายในปี 2564 นอกจากนี้ ยังมุ่งให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตโดยรวมกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ และอยู่ระหว่างการพัฒนาศักยภาพในการท่องเที่ยว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและแหล่งท่องเที่ยวบริเวณชายแดนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจบริเวณชายแดนให้มีความเจริญเติบโตมากยิ่งขึ้น
การสัมมนาครั้งนี้แบ่งออกเป็นการเสวนาและบรรยายใน 4 หัวข้อ ดังนี้
1. การเสวนาภายใต้หัวข้อ “เศรษฐกิจอีสานมื่อนี่ ม่วนอีหลีแม่นบ่” โดยมี ผศ. ดร. นรชิต จิรสัทธรรม และ ผศ. จักรกฤช เจียวิริยบุญญา อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ นางวิภารัตน์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ร่วมเป็นวิทยากร โดยได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างเศรษฐกิจไทยจากในอดีตที่พึ่งพาภาคเกษตรกรรมลดลง และพึ่งพาภาคบริการเพิ่มมากขึ้นทั้งด้านการขนส่ง และบริการอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ เศรษฐกิจในปัจจุบันยังมีการพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศ และการลงทุนภาครัฐที่เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2561 จะขยายตัวที่ร้อยละ 4.5 อันมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการส่งออกสินค้าที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง รวมถึงการส่งออกภาคบริการที่ขยายตัวได้ดีตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ การใช้จ่ายของภาครัฐยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่ของประเทศ อาทิ โครงการรถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าในเขตเมือง โครงการมอเตอร์เวย์ และโครงการพัฒนาท่าอากาศยาน ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในปี 2561 ประกอบไปด้วยความผันผวนของค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่า และแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อาจส่งผลต่อระดับราคาสินค้าในประเทศ สำหรับเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการขยายตัวที่สูงกว่าภูมิภาคอื่น ๆ ในประเทศ โดยมีภาคเศรษฐกิจที่สำคัญ 3 อันดับแรก ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรม ภาคการศึกษา และการค้าส่งค้าปลีก ซึ่งเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความหลากหลายสูง อันประกอบไปด้วยจังหวัดอุตสาหกรรม ได้แก่ ขอนแก่น และนครราชสีมา จังหวัดด้านการค้าและบริการ เช่น อุบลราชธานี และอุดรธานี และจังหวัดเกษตรกรรม เช่น ศรีสะเกษ และกาฬสินธุ์ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาด้วยวิธี Location Quotient Index (LQ) ที่เป็นวิธีการวัดความชำนาญรายสาขาการผลิตพบว่า เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความชำนาญเกี่ยวกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจภาคการศึกษามากกว่ากิจกรรมการผลิตอื่น ๆ และเมื่อพิจารณารายจังหวัด พบว่าจังหวัดศรีสะเกษมีความชำนาญด้านการโรงแรมและภัตตาคารเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีปัจจัยท้าทายสำคัญคือผลิตภาพของแรงงานที่มีค่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศในทุกภาคการผลิต
ซึ่งหากพิจารณาถึงอัตราค่าจ้างของแรงงานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเทียบกับกรุงเทพฯ พบว่าต่ำกว่าอัตราค่าจ้างของแรงงานทั้งประเทศในทุกสาขาอาชีพ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แรงงานผลิตภาพสูงอพยพออกจากพื้นที่ไปยังแหล่งที่มีรายได้สูงกว่า ทำให้ผลิตภาพแรงงานในภาพรวมของภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ในระดับต่ำ ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจภาคอีสานในอนาคต จึงจำเป็นต้องมีการจัดการแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมในระยะต่อไป
นอกจากนี้ แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 3 (2559 – 2563) ได้ส่งผลให้มีการใช้บริการทางการเงินและการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐส่งผลให้ปริมาณและมูลค่าการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการโอนเงินผ่านอินเตอร์เน็ตมีการขยายตัวสูงขึ้นทำให้การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านสาขาธนาคารลดลงและส่งผลให้จำนวนสาขาของธนาคารพาณิชย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือลดลงอย่างชัดเจน นอกจากนี้ ในส่วนของสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมามีการปรับตัวลดลงนั้น พบว่า หนี้ครัวเรือนต่อรายได้ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือกลับมีการเร่งตัวขึ้นโดยเฉพาะในจังหวัดใหญ่ เช่นครราชสีมา และอุดรธานี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้การบริโภคส่วนบุคคล
โดยมีสาเหตุจากการที่เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือขยายตัวได้ดีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รวมถึงรายได้ภาคเกษตรอยู่ในระดับสูง ทำให้ผู้บริโภคมีอำนาจซื้อและอำนาจในการก่อหนี้เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา กล่าวโดยสรุปการสัมมนาวิชาการฯ ในช่วงเช้า ได้แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของเศรษฐกิจไทย สถานการณ์ของเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาและแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2561 รวมถึงการวิเคราะห์ถึงความชำนาญ ปัจจัยสนับสนุน และปัจจัยเสี่ยงของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและจังหวัดศรีสะเกษ นอกจากนี้ ยังมีการสรุปภาพรวมของเศรษฐกิจภาคการเงินในระดับประเทศและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งคาดว่าข้อมูลที่นำเสนอจะเป็นประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วมประชุมในการวางแผนด้านการทำงาน และประกอบอาชีพต่อไป
2. การบรรยายภายใต้หัวข้อ “คุณออม รัฐช่วยออม คุณได้บำนาญกับ กอช.” ได้รับเกียรติจากนางจิราพร บุญวานิช อนุกรรมการประชาสัมพันธ์และการตลาด กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ได้กล่าวแนะนำ กอช. ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนที่ประกอบอาชีพอิสระ และไม่อยู่ในระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เช่น เกษตรกร ค้าขาย รับจ้างทั่วไป แม่บ้าน ลูกจ้างรายวัน นักเรียน นักศึกษา เป็นต้น ได้ออมเงินและมีโอกาสได้รับบำนาญหลังอายุ 60 ปี เพื่อให้มีรายได้สำหรับใช้จ่ายหลังเกษียณอายุเริ่มต้นที่ 600 บาทต่อเดือน ผู้สนใจ ที่สามารถสมัครเป็นสมาชิก กอช. ต้องมีอายุ 15 – 60 ปี สะสมเงินขั้นต่ำได้ตั้งแต่ 50 บาทต่อเดือน รวมกันสูงสุดไม่เกิน 13,200 บาทต่อปี โดยสมาชิกจะได้รับเงินสมทบเป็นอัตราส่วนของเงินสะสมของสมาชิกตามช่วงอายุ และผลตอบแทนเพิ่มเติม นอกจากนี้ เงินสะสมที่สมาชิกส่งเข้า กอช. สามารถนำไปลดหย่อนภาษี ผู้สนใจสามารถสมัครเข้าเป็นสมาชิก กอช. ได้ที่สำนักงานคลังจังหวัด และธนาคารของรัฐ 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)
3. การบรรยายภายใต้หัวข้อ “รู้ลึก รู้จริง การเงินภาคประชาชน” โดยนางสาวกฤติกา โพธิ์ไทรย์ นายชยเดช โพธิคามบำรุง และนายทิวนาถ ดำรงยุทธ จากสำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้นำเสนอผลการสำรวจภาพรวมการเข้าถึงบริการทางการเงินของครัวเรือน ระหว่างปี 2556 – 2559 ซึ่งพบว่า ครัวเรือนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 95.8 ในปี 2556 เป็นร้อยละ 97.3 ในปี 2559 และกล่าวถึงนโยบายของภาครัฐเกี่ยวกับการเงินฐานรากที่สำคัญ ได้แก่ การขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน พ.ศ. 2560 – 2564 การดำเนินการเพื่อการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน และการจัดทำร่างพระราชบัญญัติสถาบันการเงินประชาชน พ.ศ. .... ซึ่งประกอบด้วยการดำเนินงานต่าง ๆ เช่น การสนับสนุนสินเชื่อเพิ่มเพื่อรายได้ให้กับประชาชนระดับฐานราก การจัดทำฐานข้อมูลการเงินภาคประชาชน การลดภาระหนี้นอกระบบโดยการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ การเพิ่มอัตราโทษกับเจ้าหนี้นอกระบบที่เรียกเก็บดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 (มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2560) การกำหนดให้มีผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) ให้ประชาชนกู้ยืมเพื่อใช้จ่ายอเนกประสงค์ในวงเงิน 50,000 บาทต่อราย เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้ให้ความรู้กับผู้เข้าร่วมสัมมนาเพื่อป้องกันการถูกหลอกลวงจากธุรกิจแชร์ลูกโซ่ รวมถึงช่องทางการร้องทุกข์
4. การบรรยายภายใต้หัวข้อ “มาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” โดยนางสาวพิมลรัตน์ สิริเศรษฐอาภา สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้นำเสนอความคืบหน้าการดำเนินงานมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 2 โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมีงานทำ และมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยมีหลักการคือ การแก้ไขปัญหารายบุคคลแบบเฉพาะเจาะจง โดยจัดผู้ดูแลผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (Account Officer: AO) และพัฒนาผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอย่างรอบด้านใน 4 มิติ ได้แก่ (1) การมีงานทำ (2) การฝึกอบรมอาชีพและการศึกษา (3) การเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ และ (4) การเข้าถึงสิ่งจำเป็นพื้นฐาน จากการเปิดให้ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมาแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการดังกล่าวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 และได้สัมภาษณ์ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแล้วพบว่า มีผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแสดงความประสงค์เข้าร่วมการพัฒนาตนเองเป็นจำนวนประมาณ
6.4 ล้านคนในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 จากผู้ลงทะเบียนผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทั้งหมด 11.4 ล้านคน โดยผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในกลุ่มนี้จะได้รับการเติมเงินส่วนเพิ่ม (200 หรือ 100 บาทต่อคนต่อเดือน) ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สำหรับในขั้นตอนต่อไป คือ การส่งผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้หน่วยงานพัฒนาเริ่มต้นกระบวนการพัฒนาตามแผนการพัฒนาตนเองที่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแต่ละรายได้แจ้งความประสงค์ไว้ ซึ่งกระทรวงการคลังจะได้ติดตามความคืบหน้าต่อไป
ข่าวเด่น