สศก. วิเคราะห์ผลทางเศรษฐกิจ จากการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบอุทกภัยพายุเซินกาและตาลัส ในปี 60 รวม 35 จังหวัด ระบุ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เกิดเงินหมุนเวียนมากกว่า 4,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.2 เท่าของงบประมาณที่ได้รับ เผย โครงการด้านประมง เกษตรให้ความสนใจมากสุด รองลงมา คือ โครงการด้านการเลี้ยงสัตว์ และโครงการด้านการผลิตพืชอายุสั้น
นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยถึงผลการวิเคราะห์โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ปี 2560 จากพายุเซินกาและตาลัส ในช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2560 ซึ่งมีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นเจ้าภาพ พบว่า มีพื้นที่ประสบอุทกภัยที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) จำนวน 35 จังหวัด จำนวน 378,705 ครัวเรือน ใช้งบประมาณรวม 1,893.64 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร รวม 5 ด้าน ได้แก่ 1) การผลิตพืชอายุสั้น 2) การเลี้ยงสัตว์ 3) การผลิตอาหาร แปรรูปผลผลิต และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร 4) การประมง และ 5) การทำเกษตรแบบผสมผสาน
จากการวิเคราะห์ของ สศก. พบว่า การช่วยเหลือตามโครงการ 9101 แก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยจากพายุเซินกาและตาลัส ก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจำนวน 4,164.83 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.2 เท่าของงบประมาณ โดยหากพิจารณาแต่ละประเภทโครงการจะก่อให้ผลทางเศรษฐกิจ ดังนี้
ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการดำเนินการของโครงการ 9101 แก่เกษตรกรผู้ประสบภัยจากจากพายุเซินกาและตาลัส
จะเห็นว่าเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ 9101 ให้ความสนใจเข้าร่วมต่อโครงการด้านการประมงอันดับแรก รองลงมา คือ โครงการด้านการเลี้ยงสัตว์ โครงการด้านการผลิตพืชอายุสั้น โครงการการผลิตอาหารฯ และโครงการการทำเกษตรแบบผสมผสาน ตามลำดับ ซึ่งมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการดำเนินกิจกรรมในทุกด้าน โดยเกษตรกรสามารถนำไปขยายผลต่อได้ด้วยตนเอง อย่างเช่น โครงการการผลิตอาหาร แปรรูปผลผลิตฯ เนื่องจากชุมชนสามารถนำผลผลิตเป็นอาหารหรือแปรรูป เช่น การแปรรูปข้าว หมูแดดเดียว ทองม้วน และ พริกแกง ทำให้เกษตรกรมีบริโภคในครัวเรือน และยังเสริมสร้างอาชีพและรายได้เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เกิดจากการหมุนเวียนของเงินที่เป็นค่าใช้จ่ายวัสดุและอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกชุมชน อย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะแรกของโครงการ อาจยังไม่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจมากนัก แต่หลังจากดำเนินโครงการแล้วเสร็จ จะยังเกิดผลสืบเนื่องทางเศรษฐกิจอีกเป็นระยะเวลาหลายปี จากกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งมีการซื้อขายผลผลิตมากขึ้นด้วย ซึ่งนับว่าเกิดประโยชน์ทั้งด้านสังคม ในการสร้างความสามัคคีของสมาชิกในกลุ่ม เกษตรกรพึ่งพาตนเองได้ ด้านเศรษฐกิจ เกษตรกรมีอาหารบริโภค ลดรายจ่าย และมีรายได้เสริมจากการจำหน่ายผลผลิต และเกิดความยั่งยืนของโครงการ จากการตั้งกองทุนในชุมชนบริหารจัดการ และระยะยาวสามารถต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ สร้างรายได้หมุนเวียนแก่เกษตรกรต่อเนื่อง
ข่าวเด่น