สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบหมายให้ นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แถลงข่าวการจดทะเบียนธุรกิจและการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ของ
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ประจำเดือน พฤษภาคม 2561 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
• จำนวนธุรกิจจัดตั้งใหม่ มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศในเดือนพฤษภาคม 2561 จำนวน 5,865 ราย เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2561 จำนวน 5,120 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 745 ราย คิดเป็นร้อยละ 15 และเมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2560 จำนวน 5,832 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 33 ราย คิดเป็นร้อยละ 1
• ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 538 ราย คิดเป็น ร้อยละ 9 รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 345 ราย คิดเป็นร้อยละ 6 และอันดับ 3 คือ ธุรกิจภัตตาคาร / ร้านอาหาร จำนวน 163 ราย คิดเป็นร้อยละ 3
• มูลค่าทุนธุรกิจจัดตั้งใหม่ ในเดือนพฤษภาคม 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 21,090 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2561 จำนวน 36,362 ล้านบาท ลดลงจำนวน 15,272 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 42 และเมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2560 จำนวน 31,411 ล้านบาท ลดลงจำนวน 10,321 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 33
• ธุรกิจจัดตั้งใหม่แบ่งตามช่วงทุน โดยช่วงทุนที่มีจำนวนรายธุรกิจจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศมากที่สุด ได้แก่ ช่วงทุนไม่เกิน 5 ล้านบาท มีจำนวน 5,758 ราย คิดเป็นร้อยละ 98.18 รองลงมา คือช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท มีจำนวน 87 ราย คิดเป็นร้อยละ 1.48 และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท จำนวน 20 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.34 โดยมีธุรกิจที่ทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาท จำนวน 5 ราย ได้แก่ ธุรกิจตัวกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ ธุรกิจค้าวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจผลิตและจำหน่ายวัตถุดิบ อาหารสัตว์และเคมีภัณฑ์ ธุรกิจโฮลดิ้ง และธุรกิจการค้า จัดหา นำเข้า ส่งออก ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจละ 1 ราย
• ธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ทั้งสิ้น (ณ วันที่ 31 พ.ค. 61) ธุรกิจที่ยังคงดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศ จำนวน703,770 ราย มูลค่าทุน 17.66 ล้านล้านบาท จำแนกเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด / ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จำนวน 185,492 ราย คิดเป็นร้อยละ 26.36 บริษัทจำกัด จำนวน 517,083 ราย คิดเป็นร้อยละ 73.47 และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,195 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.17
• ธุรกิจดำเนินกิจการอยู่แบ่งตามช่วงทุน ธุรกิจส่วนใหญ่มีช่วงทุนไม่เกิน 5 ล้านบาท จำนวน 621,998 ราย คิดเป็นร้อยละ 88 รวมมูลค่าทุน 1.01 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6 รองลงมา คือช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท จำนวน 67,387 ราย คิดเป็นร้อยละ 10 รวมมูลค่าทุน 1.81 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10 และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท จำนวน 14,385 ราย คิดเป็นร้อยละ 2 รวมมูลค่าทุน 14.84 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 84 ตามลำดับ
ผลการจดทะเบียนธุรกิจ ธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ ธุรกิจจัดตั้งใหม่เดือนพฤษภาคม
• จำนวนธุรกิจเลิกประกอบกิจการ มีจำนวน 1,014 ราย เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2561 จำนวน 795 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 219 ราย คิดเป็นร้อยละ 28 และเมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2560 จำนวน 1,074 ราย ลดลงจำนวน 60 ราย คิดเป็นร้อยละ 6
• ประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 101 ราย คิดเป็นร้อยละ 10 รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 62 ราย คิดเป็นร้อยละ 6 และธุรกิจภัตตาคาร / ร้านอาหาร จำนวน 41 ราย คิดเป็นร้อยละ 4 ตามลำดับ
• มูลค่าทุนธุรกิจเลิกประกอบกิจการ ในเดือนพฤษภาคม 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 4,432 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2561 จำนวน 7,893 ล้านบาท ลดลงจำนวน 3,461 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 44 และเมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2560 จำนวน 10,432 ล้านบาท ลดลงจำนวน 6,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 58
• ธุรกิจเลิกประกอบกิจการแบ่งตามช่วงทุน โดยช่วงทุนที่มีจำนวนรายธุรกิจเลิกประกอบกิจการทั่วประเทศมากที่สุด ได้แก่ ช่วงทุนไม่เกิน 5 ล้านบาท จำนวน 947 ราย คิดเป็นร้อยละ 93.39 รองลงมา คือช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท จำนวน 63 ราย คิดเป็นร้อยละ 6.21 และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท มีจำนวน 4 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.40
อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.- พ.ค.61) มีการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัท จำนวน 31,034 ราย เพิ่มขึ้น จำนวน 1,617 ราย คิดเป็นร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ม.ค.-พ.ค.60) ซึ่งมีจำนวน 29,417 ราย ซึ่งมีทิศทางสอดคล้องกับภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวอย่างชัดเจนจากภาคการส่งออก และภาคการท่องเที่ยว ในขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีโอกาสเติบโตจากผลของมาตรการและโครงการต่างๆ ของภาครัฐ อาทิ มาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อยผ่านโครงการไทยนิยมยั่งยืน รวมทั้งการเร่งกระบวนการก่อสร้างโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และพ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
นอกจากนี้ ภาครัฐยังให้ความสำคัญในการส่งเสริมธุรกิจ SMEs เพื่อใช้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยการส่งเสริม SMEs ไทยให้ก้าวสู่ยุค 4.0 ผ่านมาตรการด้านการเงิน เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ให้มีศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น กระทรวงพาณิชย์มีส่วนร่วมในการสร้างธุรกิจใหม่ๆ พร้อมทั้งส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ SMEs ให้สามารถดำเนินธุรกิจผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ช (e-Commerce) และขยายการค้าอีคอมเมิร์ซให้เติบโตเพิ่มขึ้น ตลอดจนถึงการขยายธุรกิจไปยังตลาดต่างประเทศ สำหรับมาตรการในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของธุรกิจนั้น ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ได้เปิดโอกาสพิเศษให้ SMEs ที่เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจ สามารถขอสินเชื่อได้โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ทั้งนี้ผู้ขอสินเชื่อจะต้องเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทกับกระทรวงพาณิชย์เท่านั้น กรมจึงคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยผลักดันให้การจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ไม่น้อยกว่า 80,000 ราย
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เริ่มให้บริการจดทะเบียนนิติบุคคล (ห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัด) ผ่านระบบ จดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) โดยการนำเทคโนโลยีมาให้บริการจดทะเบียนนิติบุคคล ได้อย่างครบวงจร เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมในการประกอบธุรกิจให้ง่ายและสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2560 เป็นต้นมา จนถึง ณ วันที่ 31พฤษภาคม 2561 มีผู้สมัครลงทะเบียน จำนวน 40,012 ราย ได้รับการอนุมัติและเข้าไปยืนยันการใช้ระบบ (Activate) จำนวน 20,994 ราย และมีการรับจดทะเบียนนิติบุคคล ทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) จำนวน 7,870 ราย
กรมได้เชื่อมโยงระบบการจองชื่อนิติบุคคลกับระบบจดทะเบียนนิติบุคคลออนไลน์เป็นขั้นตอนเดียวกัน (จากเดิมมี 2 ขั้นตอน) โดยได้เปิดให้บริการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2561 นอกจากนี้นิติบุคคลที่จัดตั้งผ่านระบบ e-Registration สามารถใช้รหัสผ่านของนิติบุคคล ในการนำส่งงบการเงินในระบบ DBD e-Filing ได้โดยไม่ต้องลงทะเบียนขอรหัสผ่านของระบบ DBD e-Filing รวมถึงนิติบุคคลที่จดทะเบียนในรูปแบบกระดาษ ก็จะได้รหัสผ่านของนิติบุคคลเพื่อใช้การ จดทะเบียนทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2561 เป็นต้นมา เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับ ผู้ประกอบธุรกิจและลดความยุ่งยาก
นอกจากนี้ กรมยังลดค่าธรรมเนียมให้นิติบุคคลที่จดทะเบียนผ่านระบบ e-Registration ลงอีกร้อยละ 30 (3,850 บาท) เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากยิ่งขึ้น
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้เปิดให้บริการนำส่งงบการเงินผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ประชาชนและนิติบุคคลทั่วไป ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2558 เป็นต้นมา ในปีงบการเงิน 2560 นิติบุคคลที่ต้องส่งงบการเงิน จำนวน 617,099 ราย มีนิติบุคคลที่นำส่งงบการเงินแล้ว จำนวน 534,830 ราย โดยมีนิติบุคคลที่ส่งงบการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ DBD e-Filing ณ วันที่ 7 มิถุนายน 2561จำนวน 404,007 ราย และหากนำส่งงบการเงินแบบกระดาษแล้วจะต้องยื่นงบการเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ DBD e-Filing อีกครั้งภายใน 30 มิถุนายน 2561 และกรมได้เชื่อมโยงกรมสรรพากรให้นิติบุคคลที่ยื่นผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ DBD e-Filing กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นการส่งงบการเงินให้กรมสรรพากรโดยอัตโนมัติ ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ณ วันที่ 27 เมษายน 2561
นอกจากนี้กรมได้มีการจัดอบรมการนำส่งงบการเงินและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ DBD e-Filing ให้แก่ผู้ทำบัญชี ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต และนิติบุคคล โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ณ ห้องอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ชั้น 11 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า อย่างต่อเนื่อง และในปีนี้กรมได้พัฒนาระบบ DBD e-Filing ให้ใช้งานได้ง่ายและสะดวกต่อการส่งงบการเงินของนิติบุคคลเพิ่มมากขึ้น
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จึงขอประชาสัมพันธ์ให้นิติบุคคล เร่งนำส่งงบการเงินและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นรอบบัญชี 2560 ผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ (DBD e -Filing) ที่เว็บไซต์ www.dbd.go.th สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 2543 4377 , 0 2547 4390 - 91 หรือสายด่วน 1570
การจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และได้รับเครื่องหมาย DBD Registered เพื่อยืนยันการมีตัวตนของผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ปัจจุบันมีผู้ได้รับเครื่องหมาย DBD Registered (ณ ปี 46 - พ.ค.61) จำนวน 34,205 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน (เม.ย.61) จำนวน 1,579 ราย คิดเป็นร้อยละ 5 ประกอบด้วยนิติบุคคล จำนวน8,131 ราย คิดเป็นร้อยละ 24 บุคคลธรรมดา จำนวน 26,074 ราย คิดเป็นร้อยละ 76 และมีร้านค้าออนไลน์ ที่ได้รับเครื่องหมาย DBD Registered จำนวน 37,491 ร้านค้า เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน (เม.ย.61) จำนวน 1,749 ร้านค้า คิดเป็นร้อยละ 5 ธุรกิจที่ได้รับเครื่องหมาย DBD Registered สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจการแพทย์ สุขภาพ ยา สมุนไพร สปา จำนวน 6,654 ร้านค้า รองลงมาธุรกิจแฟชั่น/เครื่องแต่งกาย/เครื่องประดับ จำนวน 5,444 ร้านค้า และธุรกิจคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ ไอทีและซอฟแวร์ จำนวน 3,009 ร้านค้า ตามลำดับ
กรมได้ให้ความสำคัญอย่างมากกับนโยบายการสนับสนุนธุรกิจ e - Commerce ดังนี้
- การสร้างโอกาสทางการตลาด (e-Commerce Booster) โดยการจัดงานส่งเสริมการค้าออนไลน์ต่างๆ
- การผลักดันเข้าสู่ช่องทางออนไลน์ (e-marketplace) โดยกรมได้จัดทำเว็บไซต์ “ของดีทั่วไทย” ทำการคัดเลือกสินค้าประจำท้องถิ่นที่ดีเด่นดัง ขณะนี้มีจำนวน 125 ร้านค้า ขึ้นเผยแพร่บนเว็บไซต์ และพัฒนาเว็บไซต์ให้เป็น e-marketplace เต็มรูปแบบ โดยร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทย เชื่อมระบบ QR Payment ให้กับร้านค้า เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการชำระเงิน
การให้บริการตรวจสอบข้อมูลนิติบุคคล ด้วยการค้นหาจากรายชื่อหรือเลขทะเบียนนิติบุคคล โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลทั่วไป งบการเงิน รายชื่อร้านค้าออนไลน์ที่จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ข้อมูลสมาคมการค้า และหอการค้า รวมถึงข้อมูลการจดทะเบียนหลักประกันธุรกิจ เพื่อใช้ในการตรวจค้นข้อมูลการจดทะเบียนหลักประกัน เช่น ค้นหาตามทรัพย์สิน ลูกหนี้ และผู้ให้หลักประกัน เป็นต้น รวมทั้งมีบริการข่าวสาร กิจกรรม โครงการต่างๆ และสถานที่ให้บริการของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าผ่านมือถือ (Application: DBD e-Service) สามารถใช้งานได้ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และ Android โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2557 เป็นต้นมา เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถตรวจสอบข้อมูลนิติบุคคลได้ด้วยตนเอง สถิติผู้เข้าใช้บริการระบบสะสมจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 รวมทั้งสิ้น 7,274,690 ครั้ง โดยในเดือนพฤษภาคม 2561 มีผู้ใช้บริการ จำนวน 548,963 ครั้ง เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน (ม.ค.57 – เม.ย. 61 = 6,725,727 ครั้ง) คิดเป็นร้อยละ 8
ขณะนี้กรมอยู่ระหว่างพัฒนาระบบ DBD e-Service Application ให้สามารถรองรับการให้บริการขอหนังสือรับรอง รับรองสำเนา และถ่ายเอกสารผ่านทางอินเทอร์เน็ต (e-Service) เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการสามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ได้ทุกที่ ทุกเวลา ซึ่งคาดว่าสามารถให้บริการได้ประมาณกลางเดือน.............
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้เปิดให้บริการขอหนังสือรับรอง รับรองสำเนา และถ่ายเอกสารผ่านทางอินเทอร์เน็ต (e - Service) ในปี 2549 เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการรับเอกสารทางทะเบียนนิติบุคคล งบการเงินและรายชื่อผู้ถือหุ้น โดยร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ให้ผู้ใช้บริการสามารถขอรับเอกสารผ่านช่องทาง Walk in / EMS / Delivery และชำระเงินผ่านช่องทาง Internet Banking / ตู้ ATM / เคาน์เตอร์ธนาคาร
โดยตั้งแต่เปิดให้บริการเมื่อมกราคม 2549 จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 มีผู้ใช้บริการ จำนวน 1,514,236 ราย มีผู้ใช้บริการช่องทาง EMS จำนวน 791,467 ราย Walk in จำนวน 541,467 ราย และDelivery จำนวน 181,302 ราย
ในเดือนพฤษภาคม 2561 มีผู้ใช้บริการ จำนวน 16,911 ราย แบ่งเป็น กรุงเทพฯ จำนวน 13,407 ราย คิดเป็นร้อยละ 79 ส่วนภูมิภาค จำนวน 3,504 ราย คิดเป็นร้อยละ 21 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น จำนวน 565 ราย คิดเป็นร้อยละ 3 และช่องทางการรับเอกสารที่ผู้ใช้บริการใช้มากที่สุด คือ EMS คิดเป็นร้อยละ 61 รองลงมา Walk in คิดเป็นร้อยละ 20 และDelivery คิดเป็นร้อยละ 19 ตามลำดับ
ขณะนี้กรมอยู่ระหว่างพัฒนายกระดับการให้บริการขอหนังสือรับรอง รับรองสำเนา และถ่ายเอกสารผ่านทาง อินเทอร์เน็ต (e-Service) โดยใช้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Digital Signature) ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0
กรมได้เปิดให้บริการออกหนังสือรับรองและรับรองสำเนาเอกสารนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Certificate) ผ่านธนาคาร ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2555 โดยให้บริการผ่านธนาคาร 9 ธนาคาร ได้แก่ กรุงเทพ กรุงไทย ออมสิน กสิกรไทย ไทยพาณิชย์ ธนชาต มิซูโฮ กรุงศรีอยุธยา และเกียรตินาคิน มีสาขาให้บริการ จำนวน 4,043 สาขา จนถึง ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2561 มีสถิติผู้ใช้บริการ จำนวน 837,899 ราย ให้บริการหนังสือรับรอง จำนวน 795,811 ฉบับ และรับรองสำเนาเอกสาร จำนวน 364,002 แผ่น
การขยายตัวของผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เปิดให้บริการจนถึงปัจจุบัน ในเดือนพฤษภาคม 2561 มีผู้ใช้บริการ จำนวน 20,043 ราย โดยแบ่งเป็นการให้บริการหนังสือรับรอง จำนวน 18,865 ฉบับ และรับรองสำเนาเอกสาร จำนวน 9,342 แผ่น ให้บริการเฉลี่ย 954 รายต่อวัน
ในปี 2561 (ม.ค.-พ.ค.) มีการให้บริการ เพิ่มขึ้นจำนวน 11,888 ราย คิดเป็นร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากธนาคารได้เพิ่มการประชาสัมพันธ์และรวมบริการ e - Certificate ควบคู่ไปกับบริการอื่นๆ ของธนาคาร
ตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาคำขออนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 21/2560 การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ข้อที่ 17 มีเจตนารมณ์ให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐ เพื่อให้การทำธุรกรรมกับภาครัฐได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น โดยการยกเลิกการขอสำเนาเอกสารทางราชการ (Zero Copy) จากประชาชนในการทำธุรกรรมหรือการติดต่อราชการ เพื่อสร้างความโปร่งใสในการบริหารราชการที่รวดเร็ว เป็นการอำนวยความสะดวก ลดภาระค่าใช้จ่ายและเวลาให้กับประชาชนในการติดต่อราชการทั่วประเทศ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน และภาคธุรกิจได้มากยิ่งขึ้น
กรมพัฒนาธุรกิจการค้าให้บริการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐ ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2561 มีหน่วยงานที่เชื่อมโยงข้อมูลเพื่อไปใช้ประโยชน์ในทางราชการและบริการประชาชนจำนวนทั้งสิ้น 64 หน่วยงาน โดยแบ่งเป็น 3 แบบ ได้แก่
1) รูปแบบ Web Service : เป็นการตรวจค้นโดยสามารถนำไปสร้างรูปแบบการประมวลผลตามที่ต้องการ มีจำนวน 49 หน่วยงาน
2) รูปแบบ VPN : เป็นการตรวจค้น พิมพ์ออกในรูปแบบที่กรมกำหนด ไม่สามารถนำไปประมวลต่อได้ มีจำนวน 6 หน่วยงาน
3) รูปแบบ Web Service และ VPN จำนวน 9 หน่วยงาน
ข่าวเด่น