จังหวัดสงขลา 14 มิถุนายน 2561–กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดฉาก “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ระดับภูมิภาค ภาคใต้ จังหวัดสงขลา” ยกทัพนิทรรศการและกิจกรรมที่น่าสนใจโชว์เยาวชนชาวใต้ หวังขยายโอกาสการเรียนรู้วิทยาศาสตร์อย่างเต็มที่ ระหว่างวันที่ 13-19 มิถุนายน นี้ จัดเต็มพื้นที่ ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ICC มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
นางสุวรรณี คำมั่น เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ระดับภูมิภาค” ภาคใต้ จังหวัดสงขลา กล่าวว่า นับเป็นกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญและยิ่งใหญ่ที่สุดของปี โดยเฉพาะการจัดงานในพื้นที่ภาคใต้ครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้น ในระหว่างวันที่ 13-19 มิถุนายน ซึ่งจากข้อมูลการจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติในส่วนกลางเมื่อปี 2560 ที่ผ่านมาพบว่ามียอดผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนกว่า 1,106,724 คน เมื่อคิดเป็นร้อยละของผู้เข้าชมจากภูมิภาคต่าง ๆ แบ่งได้ ดังนี้ ภาคกลางร้อยละ 66.14 ภาคตะวันออกร้อยละ 13.08 ภาคเหนือร้อยละ 10.93 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 8.53 และภาคใต้ร้อยละ 1.32 และพบว่าผู้เข้าชมงานจากภูมิภาคต่าง ๆ ค่อนข้างน้อยกว่าส่วนกลาง โดยเฉพาะภาคใต้ที่มีจำนวนน้อยมาก เนื่องจากอุปสรรคจากระยะเวลาที่ใช้ในการเดินทางและ เกิดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำให้เกิดความยากลำบากในการมาร่วมงาน ดังนั้น เพื่อเป็นการขยายโอกาสการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเยาวชนและประชาชนในเขตพื้นที่ภาคใต้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) จึงได้ดำเนินการจัดงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ระดับภูมิภาค” ทั้ง 4 ภูมิภาคขึ้น คือ
ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง โดยจัดขึ้นที่ภาคใต้ จังหวัดสงขลา ถือเป็นการจัดงานระดับภูมิภาคครั้งที่ 2 ต่อจากการจัดงานครั้งแรกที่จังหวัดเชียงใหม่ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับการตอบรับและประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีตามเป้าหมายที่วางไว้ และครั้งนี้ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะประสบความสำเร็จด้วยดีจากความร่วมมือกันของทุกฝ่ายที่ตั้งใจสนับสนุนให้เกิดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ระดับภูมิภาค ภาคใต้ ที่จังหวัดสงขลา เพื่อช่วยกันส่งเสริมการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ให้แก่เด็ก ๆ และเยาวชนและประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ห่างไกลและพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกด้วย
“การจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ภูมิภาค ที่จังหวัดสงขลาครั้งนี้ จะช่วยให้เกิดการกระจายโอกาสการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างทั่วถึง โดยเด็ก ๆ เยาวชนและประชาชนในพื้นที่จะได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ ๆ จากนิทรรศการที่น่าสนใจและกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ที่จะสร้างให้เกิดแรงบันดาลใจสู่การเพิ่มศักยภาพตนเองในอนาคต สำหรับการจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ระดับภูมิภาค ในอีก 2 ครั้งจะมีขึ้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น ระหว่างวันที่ 11-17 กรกฎาคม2561 และภาคกลาง ที่อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระหว่างวันที่ 18-24 สิงหาคม 2561 โดยทั้งหมดนี้เป็นความตั้งใจของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ภายใต้ นโยบาย “วิทย์สร้างคน” ที่มุ่งมั่นปลูกฝังทัศนคติที่ดีและกระตุ้นการเรียนรู้นอกห้องเรียนให้กับเด็กและเยาวชนไทยในภูมิภาคต่าง ๆ อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง” เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าว
นายอำพล พงศ์สุวรรณ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดสงขลา กล่าวว่า จังหวัดสงขลา เป็นจังหวัดที่เป็นศูนย์กลางของภาคใต้ ซึ่งสามารถเชื่อมต่อการเดินทางในแต่ละจังหวัดในภาคใต้ได้อย่างสะดวกสบายและมีความพร้อมในทุก ๆ ด้าน ดังนั้น การจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ระดับภูมิภาค ภาคใต้ จังหวัดสงขลาครั้งนี้ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาศักยภาพเด็ก ๆ และเยาวชนในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เข้าถึงนิทรรศการที่น่าสนใจและกิจกรรมการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะนำไปสานต่อพัฒนา เพิ่มจินตนาการ และสร้างแรงบันดาลใจให้เติบโตต่อไปในอนาคต ซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุณภาพชุมชนท้องถิ่นของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย ทั้งนี้ ทางจังหวัดสงขลาพร้อมที่จะให้การสนับสนุนในทุกด้านและความร่วมมือต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ระดับภูมิภาค ภาคใต้ในครั้งนี้ให้ประสบผลสำเร็จด้วยดี
ด้าน นายปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวถึงการจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ระดับภูมิภาค ภาคใต้ จังหวัดสงขลาว่า สำหรับงานได้เริ่มขึ้นแล้วเมื่อวันที่ 13มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งมีเด็ก ๆ เยาวชนและประชาชนที่สนใจในพื้นที่ทยอยเดินทางเข้ามาร่วมงานกันอย่างต่อเนื่อง ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มุ่งหวังที่จะให้เด็ก ๆ เยาวชน และประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้และพื้นที่ที่ห่างไกลได้ใกล้ชิดกับวิทยาศาสตร์มากขึ้น พร้อมทั้งได้สัมผัสนิทรรศการและกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจจากทั้งในประเทศและต่างประเทศมากมาย
โดยเฉพาะ นิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” นิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีไทยและพระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” และนิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในพระราชกรณียกิจด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อันจะช่วยส่งเสริมให้เกิดความรักและสำนึกในสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการที่จะช่วยเสริมสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ และสร้างความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมอีกหลากหลาย โดยมีไฮไลท์ที่น่าสนใจ อาทิ นิทรรศการ Eggibiton : ไข่มหาสมบัติ นำเสนอนิทรรศการขุมทรัพย์ความรู้แห่งไข่ ความรู้ชีววิทยา และความรู้แห่งปัญญาที่จะทำให้ผู้ชมทึ่งกับความมหัศจรรย์แห่งไข่ ด้วยการทดลองวิทยาศาสตร์ที่เกิดจากไข่ นิทรรศการนาทีนี้ต้องดิจิทัล : Digital Now ประตูสู่โอกาสที่จะได้เรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกดิจิทัล เพื่อให้พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและสามารถสร้างโอกาสใหม่ ๆ ได้ในอนาคตและนิทรรศการ “1001 สิ่งประดิษฐ์ยุคทอง : แรงบันดาลใจจากอดีตเพื่ออนาคต” ที่ส่งตรงมาจากประเทศอังกฤษ จัดแสดงให้เห็นถึงอารยธรรมและนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นโดยชาวตะวันออกกลางในสมัยยุคทองระหว่างศตวรรษที่ 7 – 17 ที่ซึ่งบุรุษและสตรีต่างศาสนา ความศรัทธา และวัฒนธรรมได้ร่วมกันสร้างอารยธรรม ความรู้ และความก้าวหน้าซึ่งเป็นรากฐานของสิ่งประดิษฐ์ในปัจจุบันนี้ ซึ่งผู้เข้าชมจะได้เดินทางกลับสู่อดีตที่จุดประกายสู่ความเจริญก้าวหน้าในยุคปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการเกษตรยุคใหม่ (SMART FARMER ๔.๐) ที่แสดงถึงวิวัฒนาการทางการเกษตรของไทยจากอดีตถึงปัจจุบันและก้าวไปสู่อนาคตด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเกษตรที่จะช่วยให้เกษตรกรไทยขึ้นสู่การเป็น SMART FARMER และมหานครทางการเกษตร นิทรรศการพลิกขยะสู่ขุมทรัพย์ (FROM WASTE TO VALUE) นำเสนอนิทรรศการเรื่องของการบริหารจัดการขยะและชี้ให้เห็นประโยชน์ของสิ่งของเหลือใช้ต่าง ๆ ในกองขยะที่สามารถสร้างรายได้ สร้างอาชีพ สร้างสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ได้ นิทรรศการอัตลักษณ์ในท้องถิ่นไทย (Geographical Indications Products) ที่แสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์และภูมิปัญญาเฉพาะถิ่น รวมทั้งนิทรรศการความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และหน่วยงานพันธมิตรที่เข้าร่วมจัดแสดงอีกมากมาย อาทิ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) เปิดประสบการณ์ความรู้ด้านดาราศาสตร์รอบด้านและส่องกล้องดูดาวอย่างใกล้ชิด กรมวิทยาศาสตร์บริการ อัดแน่นความรู้วิทยาศาสตร์รอบตัวด้วยแอพลิเคชั่นและสนุกกับการส่องกล้องจุลทรรศน์เป็นนักจุลชีววิทยา สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) (สทอภ.) นำขบวนความรู้วัตถุอวกาศและเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศกับการประยุกต์ใช้ในชุมชน สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำเสนอนวัตกรรมและเทคโนโลยีลดการสูญเสียทรัพยากรในการผลิต การขนส่งและการบริโภค และองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) นำเสนอนิทรรศการดาราศาสตร์ ศูนย์ประสานงานกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภาคใต้ นำเสนอการพัฒนาพืชผลอัตลักษณ์ภาคใต้ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม สำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำเสนอโครงการพระราชดำริและผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัย อุทยานพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำเสนอโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์วิทยพัฒนามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ยะลา นำเสนอเทคโนโลยีการศึกษาทางไกล เป็นต้น
ภายในงานยังมีกิจกรรมประลองความคิด ประชันฝีมือสิ่งประดิษฐ์อีกมากมาย นักเรียน เยาวชน และผู้สนใจสามารถเข้าชมงานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 19 มิถุนายนนี้ เวลา 09.00 - 19.00 น. ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ICC มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ สนใจติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ www.nsm.or.th และ FACEBOOK : มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สอบถามที่องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) โทรศัพท์ 02 577 9960
ข่าวเด่น