กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผย “กระเทียมดำ” มาแรงในตลาดเยอรมนี หลังมีงานวิจัยชี้ชัดเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ มีประโยชน์ในการเป็นยาต้านอนุมูลอิสระ ทำให้กลุ่มผู้บริโภคให้ความนิยมเพิ่มมากขึ้น แนะเน้นผลิตสินค้ากระเทียมออร์แกนิก เพื่อสร้างจุดขาย และขายได้ราคาสูงขึ้น
นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้รับรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต ถึงการสำรวจตลาด “กระเทียมดำ” ในเยอรมนี โดยพบว่า ปัจจุบันกระเทียมดำมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง เริ่มมีร้านที่จำหน่ายกระเทียมดำเพิ่มมากขึ้น รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ใช้กระเทียมดำเป็นส่วนประกอบ จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ส่งออกไทยที่จะขยายตลาดการส่งออกกระเทียมดำเจาะเข้าสู่ตลาดเยอรมนี เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น
“ตอนนี้ในเยอรมนี มีการเผยแพร่งานวิจัยของแพทย์ทางอายุรกรรม มหาวิทยาลัยไฟร์บวร์ก ที่ทำการวิจัยเกี่ยวกับกระเทียมดำในทางการแพทย์ธรรมชาติต่อการรักษาโรคหลายแขนงและการบำบัดรักษาอาการปวด ซึ่งพบว่ากระเทียมดำได้มีส่วนช่วยรักษาโรค และทำให้ระบบภูมิต้านทานโรคดีขึ้น โดยได้มีการเผยแพร่บทความและงานวิจัยการเพิ่มมากขึ้น ทำให้กระเทียมดำเป็นที่รู้จักและต้องการมากขึ้น”นางจันทิรากล่าว
ทั้งนี้ ผลการศึกษา พบว่า กระเทียมดำอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุ โดยเฉพาะวิตามินซี ซีลีเนียม และโพแทสเซียม มีสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งมีคุณสมบัติดีกว่ากระเทียมสด โดยสามารถลดไขมันในเลือด ลดความดันเลือด ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา สามารถรักษาโรคเบาหวาน โรคหัวใจ ต่อต้านโรคภูมิแพ้ ลดปริมาณคอเรสเตอรอล และความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง เป็นต้น
นางจันทิรากล่าวเสริมว่า สำหรับโอกาสในการส่งออกของไทย สามารถส่งออกกระเทียมดำ เพื่อป้อนตลาดได้เลย แต่ถ้าให้ดี ควรจะเน้นกระเทียมดำที่เป็นออร์แกนิก เพื่อสร้างจุดขาย และเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า เพราะปัจจุบันชาวเยอรมัน หันมาดูแลสุขภาพกันมากขึ้น และสินค้าที่ปลอดสารพิษ ก็เป็นการตอบโจทย์ ความต้องการ โดยกลุ่มผู้บริโภคที่จะเป็นตลาดรองรับ นอกจากกลุ่มคนรักสุขภาพ ยังมีชาวเอเชีย เช่น ชาวเกาหลี ญี่ปุ่น และจีน ซึ่งเป็นกลุ่มที่อาศัยอยู่ในเยอรนีเป็นจำนวนมาก
สำหรับกระเทียมดำ ทำมาจากกระเทียมสีขาวธรรมชาติ โดยผ่านกระบวนการหมักด้วยกรรมวิธีพิเศษ ในอุณหภูมิควบคุมประมาณ 60-90 องศาเซลเซียส ใช้ระยะเวลาประมาณ 40-90วัน ถือเป็นอาหารพิเศษราคาแพง เป็นที่รู้จักกันดีในครัวและวงการแพทย์ของเกาหลี ญี่ปุ่น และจีน ต่อมาได้ถูกนำเข้ามาในสเปน จนเป็นที่รู้จักแพร่หลายและนิยมบริโภคในเวลาไม่กี่ปีมานี้ โดยถูกนำไปปรุงอาหารสเปนในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นอาหารหมักดอง น้ำซอส แกง เนื้อสัตว์เคี่ยว หรือผลิตภัณฑ์ทาขนมปัง และจากนั้นได้ขยาย ความนิยมไปยังยุโรป รวมถึงเยอรมนี
ข่าวเด่น