สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผย 21 มิถุนายน 2561 กลางวันยาวนานที่สุดในรอบปีทางซีกโลกเหนือ หรือเรียกว่า “วันครีษมายัน” ดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด ทำให้กลางวันยาวนานที่สุดในรอบปีเกือบ 13 ชั่วโมง
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ เปิดเผยว่า ช่วงเดือนมิถุนายนดวงอาทิตย์จะตกค่อนข้างช้า กว่าจะตกลับขอบฟ้าก็เป็นเวลาใกล้หนึ่งทุ่ม เนื่องจากเป็นเดือนที่ประเทศทางซีกโลกเหนือได้รับปริมาณแสงจากดวงอาทิตย์นานที่สุดในรอบปี เกิดจากการที่โลกหมุนรอบตัวเอง (ใช้เวลาประมาณ 1 วัน) ขณะเดียวกันโลกก็โคจรรอบดวงอาทิตย์ (ใช้เวลาประมาณ 1 ปี) และและเนื่องจากแกนโลกเอียงทำมุม 23.5 องศากับแนวตั้งฉากกับแนวโคจรรอบดวงอาทิตย์ ส่วนของโลกที่หันเข้าหาดวงอาทิตย์จึงแตกต่างกันไป รวมถึงรังสีดวงอาทิตย์ที่ตกตั้งฉากกับพื้นโลกก็เปลี่ยนไปตามช่วงเวลาของแนวทางการโคจร ทำให้ส่วนต่างๆของโลกได้รับแสงอาทิตย์ไม่เท่ากัน และมีอุณหภูมิต่างกัน เป็นสาเหตุของการเกิดฤดูกาล สำหรับในวันที่ 21 มิถุนายนนี้ ดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุดและตกทางทิศ
ตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด จึงเป็นวันที่มีช่วงเวลากลางวันยาวที่สุดในรอบปีของประเทศทางซีกโลกเหนือ ภาษาสันสกฤตเรียกว่า “วันครีษมายัน” (ครีด-สะ-มา-ยัน) หรือ Summer Solstice สำหรับประเทศไทยในวันที่ 21 มิถุนายน 2561 ดวงอาทิตย์จะขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเวลาประมาณ 05:51 น. และตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเวลาประมาณ 18:47 น. ดวงอาทิตย์ปรากฏอยู่บนท้องฟ้าเป็นเวลารวมกว่า 12 ชั่วโมง 56 นาที (เวลา ณ กรุงเทพมหานคร)
นายศุภฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า คำว่า “Solstice” เป็นภาษาอินโดยูโรเปียน Stice หมายถึง สถิต หรือ หยุด ดังนั้น Summer Solstice หมายถึงวันที่ดวงอาทิตย์ไม่เคลื่อนที่ เพราะดวงอาทิตย์เคลื่อนที่ไปทางเหนือเรื่อยๆ ตั้งแต่เดือนมีนาคมและหยุดที่จุดเหนือสุดในวันที่ 21 มิถุนายน หลังจากนั้นจะค่อยๆ เคลื่อนที่ลงมาทางใต้ ในทางฤดูกาลนับเป็นวันเริ่มต้นฤดูร้อนในซีกโลกเหนือ และเริ่มต้นฤดูหนาวในซีกโลกใต้
ในระยะเวลา 1 ปี ที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ เกิดปรากฏการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์ ได้แก่
1. วันวสันตวิษุวัต (วะ-สัน-ตะ-วิ-สุ- วัด) (Vernal Equinox) ในปี 2561 ตรงกับวันที่ 20 มี.ค. เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันเท่ากับกลางคืนพอดี นับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือเข้าย่างสู่ฤดูใบไม้ผลิ ส่วนซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง
2. วันครีษมายัน (ครีด-สะ- มา-ยัน) (Summer Solstice) ในปี 2561 ตรงกับวันที่ 21 มิ.ย. เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันยาวที่สุดในรอบปี สำหรับประเทศทางซีกโลกเหนือ นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้ช่วงกลางวันจะสั้นที่สุดในรอบปี นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว
3. วันศารทวิษุวัต (สาด-ทะ-วิ-สุ-วัด) (Autumnal Equinox) ในปี 2561 ตรงกับวันที่ 23 ก.ย. เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันเท่ากับกลางคืนพอดี นับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือเข้าย่างสู่ฤดูใบไม้ร่วง ส่วนซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ
4. วันเหมายัน (เห-มา-ยัน) (Winter Solstice) ในปี 2561 ตรงกับวันที่ 22 ธ.ค. เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันสั้นที่สุดและกลางคืนยาวที่สุดในรอบปี หรือที่คนไทยเรียกว่า “ตะวันอ้อมข้าว” สำหรับประเทศทางซีกโลกเหนือ นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้ ช่วงกลางวันจะยาวที่สุดในรอบปี นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน
ข่าวเด่น