สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยวันที่ 27 มิถุนายน 2561 ดาวเสาร์โคจรมาอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี สังเกตด้วยตาเปล่าชัดเจนตั้งแต่หัวค่ำทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ หากใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดหน้ากล้องตั้งแต่ 4 นิ้ว กำลังขยาย 50 เท่าขึ้นไป จะมองเห็วงแหวนหลักได้อย่างชัดเจน
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า ในวันที่ 27 มิถุนายน 2561 ดาวเสาร์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ดวงอาทิตย์ โลก และดาวเสาร์ เรียงตัวอยู่ในแนวเดียวกัน มีโลกอยู่ตรงกลาง ส่งผลให้ดาวเสาร์อยู่ในตำแหน่งใกล้โลกมากที่สุด ระยะห่างประมาณ 1,353 ล้านกิโลเมตร เป็นโอกาสที่ดีสำหรับการสังเกตการณ์ เนื่องจากสามารถมองเห็นได้ตลอดคืนและมีขนาดใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย มีค่าความสว่างปรากฏประมาณ 0.1 (ความสว่างปรากฏดวงจันทร์เต็มดวงประมาณ -12.6)
ดร.ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 27 มิถุนายน 2561 สามารถสังเกตดาวเสาร์ด้วยตาเปล่าได้อย่างชัดเจน ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า ปรากฏทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณกลุ่มดาวคนยิงธนู ต่ำกว่าดวงจันทร์ลงมาเล็กน้อย (วันดังกล่าวดวงจันทร์อยู่ในช่วงข้างขึ้น 14 ค่ำ) หากสังเกตการณ์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ที่มีขนาดหน้ากล้องตั้งแต่ 4 นิ้ว และมีกำลังขยาย 50 เท่าขึ้นไป จะมองเห็นวงแหวนหลักของดาวเสาร์ได้ชัดเจน รวมถึงช่องว่างแคสสินีและดวงจันทร์บริวารบางดวง วงแหวนดาวเสาร์ที่มองเห็นผ่านกล้องโทรทรรศน์มีความกว้างกว่า 80,000 กิโลเมตร เศษวัตถุในวงแหวนยังสะท้อนแสงได้ดีอีกด้วย
“ดาวเสาร์เป็นดาวเคราะห์ที่มีวงแหวนขนาดใหญ่และสวยงามมาก ได้รับการขนานนามว่า เป็นราชาแห่งวงแหวน นับเป็นโอกาสดีที่โรงเรียนจะจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ ให้นักเรียนได้ชมวงแหวนดาวเสาร์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ และเรียนรู้ประสบการณ์จริงผ่านปรากฏการณ์ดาราศาสตร์สำคัญในครั้งนี้ จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์แก่เยาวชนไทยได้เป็นอย่างดีอีกด้วย และหลังจากนี้ดาวเสาร์ยังจะปรากฏบนท้องฟ้าตลอดคืนยาวนานไปจนถึงประมาณสิ้นเดือนตุลาคม” ดร.ศรัณย์ กล่าว
สดร. เตรียมจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ “ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี” ในวันพุธที่ 27 มิถุนายน 2561 ตั้งแต่เวลา 18.00-22.00 น. เชิญชวนประชาชนร่วมสัมผัสความสวยงามของวงแหวนดาวเสาร์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ ณ จุดสังเกตการณ์หลัก 4 จุด เชียงใหม่ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา สงขลา และเครือข่ายโรงเรียนอีกกว่า 360 แห่งทั่วประเทศ (ตรวจสอบรายละเอียดได้ทาง www.facebook.com/NARITpage )
จุดสังเกตการณ์หลัก 4 แห่ง ได้แก่ 1) เชียงใหม่ : อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ โทร. 081-8854353 2) นครราชสีมา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา โทร. 086-4291489
3) ฉะเชิงเทรา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา โทร. 084-0882264
4) สงขลา : ลานหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล หาดใหญ่ จ.สงขลา โทร. 095-1450411
ข่าวเด่น