นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2561 ได้หารือร่วมกับ ดาโต๊ะ ปาดูกา ลิม จ็อก ฮอย เลขาธิการอาเซียนคนใหม่ ที่เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนมกราคม 2561 ในโอกาสที่เดินทางมาประเทศไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง ครั้งที่ 8 (ACMECS) ระหว่างวันที่ 15 – 16มิถุนายน 2561 ซึ่งไทยได้แสดงความยินดีต่อการรับตำแหน่งดังกล่าว และได้หารือถึงความร่วมมือของรัฐบาลไทยและสำนักเลขาธิการอาเซียนในการเตรียมการเป็นประธานอาเซียนของไทยในปี 2562
นางสาวชุติมา กล่าวว่า การหารือครั้งนี้ ไทยได้แสดงความพร้อมที่จะเป็นประธานอาเซียนในปีหน้า โดยในด้านเศรษฐกิจกระทรวงพาณิชย์จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในระดับต่างๆ รวม 7 การประชุม ซึ่งขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างการพิจารณาประเด็นด้านเศรษฐกิจที่ไทยจะผลักดันให้มีความคืบหน้าหรือเกิดผลเป็นรูปธรรม โดยตลอดทั้งปี 2562 ที่ประเทศไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน สำนักเลขาธิการอาเซียนจะเป็นกำลังสำคัญหลักในการสนับสนุนการทำงานและความร่วมมือต่างๆ ของประชาคมอาเซียน ซึ่งเลขาธิการอาเซียนแสดงความพร้อมที่จะสนับสนุนการทำงานของไทย รวมทั้งร่วมผลักดันความร่วมมือในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนให้มีความก้าวหน้าและได้รับประโยชน์ร่วมกัน
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังเห็นร่วมกันว่า เพื่อขับเคลื่อนการทำงานของอาเซียนให้บรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในการเป็นประชาคมที่มีความเชื่อมโยง รวมตัวกันอย่างแน่นแฟ้น มีความสามารถในการแข่งขัน มีนวัตกรรม และมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง รวมทั้งสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสมโดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 อาเซียนควรให้ความสำคัญกับการทำงานในประเด็นที่มีความคาบเกี่ยว (cross-cutting) ทั้งระหว่างเสาประชาคม และระหว่างองค์กรรายสาขามากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนด้วย
นางสาวชุติมา กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือเกี่ยวกับการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ อาร์เซ็ป โดยเห็นพ้องกันว่าอาเซียนและคู่เจรจา 6 ประเทศ ต้องมุ่งมั่นตั้งใจร่วมกันที่จะสรุปการเจรจาอาร์เซ็ปให้ได้ในปี 2561 ผู้นำของแต่ละประเทศจะต้องให้ท่าทีในการเจรจากับผู้แทนของประเทศตนที่ยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อเร่งรัดให้การเจรจามีความคืบหน้าและสามารถสรุปได้โดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะเรื่องการเปิดตลาด นอกจากนี้ ในแต่ละรอบการเจรจาทุกประเทศจะต้องพยายามอย่างเต็มที่ ในการทยอยสรุปประเด็นที่จะอยู่ในความตกลงให้ได้ตามแผนงานที่กำหนดร่วมกันไว้ ซึ่งขณะนี้สามารถสรุปได้แล้ว 2 เรื่องจากทั้งหมด 18 เรื่อง ทั้งนี้ ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการเจรจาจัดทำความตกลงอาร์เซ็ป ครั้งที่ 23 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ในวันที่ 17-27 กรกฎาคม 2561 ซึ่งจะเป็นการประชุมรอบสำคัญก่อนการประชุมรัฐมนตรีอาร์เซ็ป ครั้งที่ 6 ในช่วงต้นเดือนกันยายน 2561
ข่าวเด่น