เนื่องด้วยทักษะการคิดคำนวณแบบคอมพิวเตอร์และความสามารถในการแก้ไขปัญหาล้วนเป็นทักษะที่มีสำคัญต่อความสำเร็จของเยาวชนไทยในโลกที่พัฒนาสู่ยุคดิจิทัล บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด จึงได้สนับสนุนโครงการ Coding Thailand ซึ่งเป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล มุ่งเน้นที่การพัฒนาเว็บไซต์ Codingthailand.org สำหรับการเรียนรู้วิทยาการคอมพิวเตอร์ที่นำเสนอหลักสูตรและแหล่งความรู้คุณภาพสูงจากเว็บไซต์ระดับสากลอย่าง Code.org โดยได้รับการแปลและปรับเนื้อหาให้เหมาะสมกับนักเรียนและครูชาวไทยโดยไม่มีค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังพัฒนาขึ้นจากแพลตฟอร์ม Microsoft Azure เพื่อสร้างชุมชนออนไลน์ที่ยั่งยืน ด้วยการผสมผสานระหว่างความรู้และความบันเทิง เพื่อกระตุ้นความสนใจของเยาวชนต่อวิทยาการคอมพิวเตอร์ และฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างทักษะเชิงดิจิทัลที่จำเป็น ทั้งนี้ เว็บไซต์Codingthailand.org ได้ถูกตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะสามารถเข้าถึงเยาวชนไทยจำนวนสิบล้านคนทั่วประเทศภายในอีกสามปีข้างหน้า
การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลส่งผลให้รูปแบบการดำเนินชีวิตเปลี่ยนไป โครงการ Coding Thailand จึงเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่ถูกคิดขึ้นมาจากนโยบายของรัฐบาลและนำมาสู่การใช้งานจริง ด้วยหลักการที่สำคัญคือ เปลี่ยนแปลงห้องเรียนที่ผู้คนคุ้นเคยเป็นห้องเรียนบนโทรศัพท์มือถือ แล็ปท็อป แท็บเล็ต และอุปกรณ์ดิจิทัลต่างๆ
โครงการ Coding Thailand จึงเปรียบเสมือนโลกใหม่ของการศึกษาในยุคดิจิทัล อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนากำลังคนและบุคลากรด้านดิจิทัล ซึ่งจะเป็นทรัพยากรสำคัญในการบรรลุเป้าหมายนโยบายประเทศไทย 4.0 เพราะการส่งเสริมและพัฒนาให้ทรัพยากรบุคคลพร้อมเข้าสู่ยุคดิจิทัลเป็นเรื่องสำคัญที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เยาวชนที่เป็นทรัพย์สินที่มีค่าสูงสุดในการช่วยผลักดันเศรษฐกิจและสังคมไทย
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลจึงได้พัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ Codingthailand.org ภายใต้ความร่วมมือกับCode.org องค์กรไม่แสวงหากำไรซึ่งเป็นศูนย์รวมการเรียนรู้ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์พื้นฐานของเยาวชนชั้นนำของโลก และพันธมิตรหน่วยงานเอกชน เช่น ไมโครซอฟท์ และพันธมิตรองค์กรไม่แสวงผลกำไร เช่น มูลนิธิสำนักงานพัฒนาตลาดวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเชนจ์ฟิวชั่น มูลนิธิพระมหาไถ่ และมูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ทักษะการโค้ดตั้งแต่ระดับพื้นฐานแก่เยาวชน คุณครูและผู้สนใจทั่วไป
ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กล่าวว่า “สิ่งสำคัญของ Coding Thailand คือรูปแบบการเรียนรู้ผ่าน Codingthailand.org จะครอบคลุมทั้งการเรียนรู้แบบทางการและไม่ทางการ โดยเน้นเนื้อหาของบทเรียนด้านการเขียนโค้ดดิ้งให้เข้ากับบริบทการศึกษาในชั้นเรียนระดับต่างๆ ควบคู่กับกิจกรรมสนุกสนานที่กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้นอกชั้นเรียน อีกทั้งยังมีกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และกิจกรรมเพิ่มเติม ที่มุ่งพัฒนาทักษะกระบวนการคิด ตลอดจนทักษะวิทยาการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงต่อยอดการเรียนรู้ด้านการเขียนโค้ดดิ้ง เพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรม โดยสามารถเรียนรู้ได้ตั้งแต่รูปแบบ Unplugged หรือการเรียนรู้ที่ไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ซึ่งเหมาะกับเด็กปฐมวัย การเรียนรู้ด้วยอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์เพิ่มเติม อีกทั้งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลยังมีแผนการจัดกิจกรรม Thai Hour of Code กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับการเขียนโค้ดดิ้งผ่านแพลตฟอร์ม Codingthailand.org ซึ่งมีต้นแบบมาจาก Hour of Code ที่ประสบความสำเร็จมาแล้วทั่วโลก ในการส่งเสริมให้ทุกคนเริ่มต้นการเขียนโค้ดดิ้งได้ง่ายๆ ในระยะเวลาเพียง 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งเพียงพอต่อการเรียนรู้วิทยาการคอมพิวเตอร์ได้อย่างสนุกสนานและสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และเข้าใจในวิทยาการคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน ตลอดจนพัฒนาไปสู่นักวิทยาการคอมพิวเตอร์ได้ในอนาคต โดยมีแผนกิจกรรมสำหรับเยาวชนครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วไทย ที่สำคัญยังมีแผนการจัดแข่งขัน Coding Thailand Tournament ที่จะสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ด้านการเขียนโค้ดดิ้งเข้ากับไลฟ์สไตล์ของเยาวชนไทยในปัจจุบัน ถือเป็นการปฏิวัติรูปแบบการเรียนรู้ด้านดิจิทัลของเยาวชนไทยอย่างแท้จริง”
นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “หนึ่งในพันธกิจหลักของไมโครซอฟท์คือ ต้องการเป็นกำลังสำคัญให้กับทุกคนบนโลกใบนี้ซึ่งรวมไปถึงความตั้งใจที่จะส่งเสริมเยาวชนทั่วโลกรวมถึงเยาวชนไทยให้มีทักษะทางดิจิทัลเพื่อให้พวกเค้าสามารถบรรลุเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่และก้าวข้ามขีดจำกัดในยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลได้ เราเชื่อว่าเยาวชนคืออนาคตที่สำคัญในการสรรค์สร้างนวัตกรรมให้เจริญก้าวหน้า และเยาวชนไทยก็มีความสามารถไม่น้อยไปกว่าชาติอื่น ผมมั่นใจว่าแพลตฟอร์มนี้จะเป็นส่วนสำคัญที่เข้ามาช่วยสร้างทักษะความรู้ทางดิจิทัลให้กับครูและนักเรียนซึ่งจะเป็นหนึ่งในฟันเฟืองในการช่วยรัฐบาลให้บรรลุเป้าหมายนโยบายไทยแลนด์ 4.0”
ไมโครซอฟท์มีความมุ่งมั่นในการช่วยรัฐบาลลดช่องว่างด้านทักษะและอาชีพในประเทศไทย พร้อมส่งเสริมการอยู่ร่วมกันที่ดียิ่งขึ้นระหว่างผู้คนที่มาจากพื้นเพที่หลากหลาย ทั้งในเมืองและต่างจังหวัด ด้วยการใช้เทคโนโลยีมาเป็นตัวช่วย ดังนั้น ตั้งแต่แรกเริ่ม ไมโครซอฟท์จึงได้ทุ่มเทให้กับการสนับสนุนโครงการนี้ ด้วยการจัดสรรทีมงาน 2 ทีมที่ทำงานเต็มเวลาเพื่อโครงการนี้โดยเฉพาะ ได้แก่ ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และ ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาเพื่อสาธารณประโยชน์ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าโครงการนี้จะดำเนินการต่อไปอย่างยั่งยืน และสามารถขยายการดำเนินการสู่ระดับประเทศต่อไป โดยนอกจากไมโครซอฟท์จะนำแพลตฟอร์มอัจฉริยะที่ปลอดภัยอย่าง Microsoft Azure มาพัฒนาเว็บไซต์สำหรับการเรียนรู้ออนไลน์ Codingthailand.orgและ
สนับสนุนการพัฒนาทักษะด้านการเขียนโค้ดดิ้งแล้ว ไมโครซอฟท์ยังจะร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อสนับสนุนครูและนักเรียนผ่านโครงการฝึกอบรมทักษะด้านเทคโนโลยีให้กับบุคลากรทางการศึกษา (Training the Trainers) ด้วยการใช้แนวคิดหลักและวิธีปฏิบัติด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์เชิงลึกที่จะช่วยพัฒนาทักษะเชิงดิจิทัลใน 5 ภูมิภาคในประเทศไทย
คุณอลิซ สเตนกลาส ประธาน Code.org กล่าวว่า “เศรษฐกิจดิจิทัลกำลังเข้ามามีบทบาทและมีความสำคัญในทุกอุตสาหกรรมรวมถึงการทำงานในแวดวงต่างๆ โดยมีการคาดการณ์จากผู้เชี่ยวชาญว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบอัตโนมัติจะเข้ามาทดแทนการทำงานของมนุษย์ทั่วโลกมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ที่กาลังทำงานอยู่ทั่วโลกในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ จึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่เด็กทุกคนควรได้รับการส่งเสริมและพัฒนาทักษะให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงด้วยการเรียนรู้ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์และวิทยาการคำนวณ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในศตวรรษที่ 21 และทักษะพื้นฐานเหล่านี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของเยาวชนไทยให้ไม่ใช่เพียงแค่ “ใช้” เทคโนโลยีดิจิทัล แต่ยังสามารถ “สร้างสรรค์” ได้ในอนาคต”
โครงการนี้จะพัฒนาและสร้างการฝึกอบรมครูด้วยหลักสูตรวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่มีขอบเขตมากกว่ากิจกรรม Hour of Code ที่จะสอนแนวคิดหลักและวิธีปฏิบัติด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ผ่านการฝึกอบรมทั้งในรูปแบบการอบรมแบบต่อหน้าและผ่านการอบรมทางออนไลน์ ทั้งนี้ การใช้เว็บไซต์ Codingthailand.org เป็นแหล่งการเรียนรู้ จะมอบประโยชน์ให้กับเยาวชนจำนวน 10 ล้านคน ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาไปจนถึงระดับมัธยมศึกษา
ด.ช. วริศ จูระมงคล นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม กล่าวว่า “ผมเริ่มหันมาสนใจเกี่ยวกับการเขียนโค้ดดิ้งตอนที่ผมได้เริ่มเล่นเกมไมน์คราฟท์เป็นครั้งแรก และหลังจากนั้น ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการฝึกอบรมของไมโครซอฟท์ที่ใช้เกมนี้เป็นสื่อในการสอน ผมชอบเรียนเขียนโค้ดดิ้งเพื่อควบคุมหุ่นยนต์ เพราะผมรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่สนุก และเชื่อว่ามันจะเป็นทักษะที่เป็นประโยชน์กับตัวผมเองในอนาคต ผมยิ่งรู้สึกชอบการเขียนโค้ดดิ้งเมื่อมีโอกาสได้เรียนรู้เพิ่มเติมจากวิชาเลือกที่โรงเรียน ซึ่งคุณครูได้ใช้หลักสูตรจาก Code.org เป็นแพลตฟอร์มในการสอน ความฝันของผมคือการเขียนโค้ดดิ้งและสร้างหุ่นยนต์ที่สามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ในอนาคต”
ด.ญ. ณัฐยา ชิวารักษ์ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์กล่าวว่า “หนูชอบเล่นเกมมากเพราะรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่สนุกและท้าทาย และหนูเกิดความสงสัยว่าเกมที่ตัวเองเล่นมีที่มาที่ไปอย่างไร จากนั้นก็ได้เรียนรู้ว่าเราสามารถสร้างเกมหรือการออกแบบอื่นๆ จากการเขียนโค้ดดิ้งได้ เมื่อก่อน หนูเคยคิดว่าการเขียนโค้ดดิ้งเป็นสิ่งที่ยากเกินไปสำหรับหนู จนหนูได้เริ่มฝึกเขียนโค้ดดิ้งผ่าน Code.org และได้เรียนรู้ว่ามันเป็นสิ่งที่ง่ายและสนุกมาก เป้าหมายในอนาคตของหนูคือการฝึกและพัฒนาทักษะการเขียนโค้ดดิ้งของตัวเองจนเก่งพอที่จะสร้างเกมหรือแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนเป็นของตัวเอง”
ข่าวเด่น