การค้า-อุตสาหกรรม
พาณิชย์สร้างโอกาสเชื่อมพันธมิตรทางการค้าและการลงทุน ระหว่าง SMEs ไทยกับสิงคโปร์


 กระทรวงพาณิชย์ ประสบความสำเร็จจับมือสภาอุตสาหกรรมแห่งชาติสาธารณรัฐสิงคโปร์ สร้างโอกาสเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทยกับสิงคโปร์ จัดกิจกรรม “Thailand-Singapore Business Networking” สู่การเป็นพันธมิตรทางการค้าการลงทุนไทย-สิงคโปร์ในระยะยาวที่แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น

 

 

 

นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ ได้ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดงาน “Thailand-Singapore Business Networking” ห้องบุรฉัตรไชยากร กระทรวงพาณิชย์ จัดโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดย มร.ดั๊กลาส ฟู (Mr. Douglas Foo) ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งชาติสาธารณรัฐสิงคโปร์ได้นำคณะนักธุรกิจสิงคโปร์สมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งชาติสาธารณรัฐสิงคโปร์กว่า 30 ราย ในกลุ่มธุรกิจก่อสร้าง โลจิสติกส์ การสื่อสารและเทคโนโลยี อาหารและเครื่องดื่ม ชีวเวชภัณฑ์และการวิจัย และธุรกิจบริการอื่นๆ เข้าร่วมกิจกรรมสร้างเครือข่ายธุรกิจกับผู้ประอบการไทยกว่า 40 ราย กิจกรรมนี้ จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงนักธุรกิจระหว่างสองประเทศสู่การเป็นพันธมิตรทางการค้าการลงทุนในระยะยาว พร้อมนี้ ในช่วงเช้าวันเดียวกัน ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งชาติสาธารณรัฐสิงคโปร์และคณะ ยังได้เข้าเยี่ยมคารวะผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ พร้อมหารือความร่วมมือระหว่างกัน รวมถึงเข้ารับฟังบรรยายเกี่ยวกับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และมาตรการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ เพื่อสร้างโอกาสสู่การเป็นพันธมิตรทางการค้าและการลงทุนให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

 

 

นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ กล่าวว่าสิงคโปร์เป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญอันดับ 3 ของไทยในอาเซียน อย่างไรก็ดี แม้ว่าสิงคโปร์จะเป็นประเทศที่มีขนาดเล็ก มีข้อจำกัดด้านภาคการผลิตและการเกษตร แต่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจเป็นอันดับต้นของโลก ในขณะที่ประเทศไทย มีจุดเด่นด้านการเป็นแหล่งผลิตและส่งออกอาหาร ตลอดจนสินค้าและธุรกิจบริการที่มีศักยภาพที่สำคัญของโลก นอกจากนี้ จากการที่รัฐบาลได้เดินหน้าพัฒนาปรับโครงสร้างพื้นฐานหลักอย่างเต็มรูปแบบ โดยให้ความสำคัญใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ (1) การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคภายในประเทศและเชื่อมต่อประเทศ CLMV ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม (2) การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศบนพื้นฐานของการสร้างมูลค่าเพิ่มและนโยบายเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ตามนโยบายประเทศไทย 4.0 และ (3) การยกเครื่องและดำเนินการด้านกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้เกิดการค้าการลงทุน สิ่งเหล่านี้ได้ส่งผลให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนที่เชื่อมโยงสู่ภูมิภาค CLMV และยังเชื่อมต่อไปจนถึงตอนใต้ของประเทศจีนอีกด้วย ดังนั้น      จะเห็นได้ว่าไทยและสิงคโปร์สามารถใช้จุดเด่นและความชำนาญที่แตกต่างกันของแต่ละฝ่ายที่สามารถเกื้อหนุนกันได้     ผลการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จและเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ประกอบการและนักธุรกิจไทยเพื่อแสวงหาโอกาสในการสร้างความร่วมมือกับสิงคโปร์เพื่อให้เป็นประตูการค้าในการกระจายสินค้าไทยไปยังตลาดทั่วโลกด้วย

  นอกจากนี้ นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ยังได้กล่าวถึงการหารือในด้านความร่วมมือด้านพัฒนาผู้ประกอบการไทยว่ามีการหารือแนวทางความร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งชาติสาธารณรัฐสิงคโปร์ ในการช่วยสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของ SMEs ไทยและสร้างเครือข่ายระหว่างกันให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ตามนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยที่เน้นการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ให้เป็น SME 4.0 ที่มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถสร้างหรือใช้เทคโนโลยี หรือนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการ

ปัจจุบัน สภาอุตสาหกรรมแห่งชาติสาธารณรัฐสิงคโปร์มีสมาชิกกว่า 3,000 ราย โดยร้อยละ 90 เป็น SMEs และมีศูนย์ความเป็นเลิศ (Centre of Excellence) ในสังกัดถึง 7 ศูนย์ด้วยกัน รวมถึงมีศูนย์ให้บริการฝึกอบรมแก่ผู้ประกอบการ SMEs สิงคโปร์ด้วย ในขณะที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ มีสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ฝึกอบรมและพัฒนาศักยภาพ SMEs ไทยในการดำเนินธุรกิจในโลกการค้ายุคใหม่ ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์ SMEs ของไทยเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ ผู้แทนจาก BOI และ EEC ยังได้บรรยายเกี่ยวกับการส่งเสริมการลงทุนและระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของไทย ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์ภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 ที่มุ่งเน้นใช้พื้นที่ EEC เป็นประตูเชื่อมไทยสู่โลก และเปิดโลกเข้าสู่ AEC นอกจากนี้ การที่ทั้งสองประเทศตั้งอยู่ในแนวเส้นทางสายไหมของจีน (Belt and Road Initiative-BRI) โดยไทยมีความมุ่งมั่นที่จะเชื่อมโยง EEC กับ BRI เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นประตูสู่อนุภูมิภาคCLMVT ในขณะที่สิงคโปร์ในฐานะศูนย์กลางการเงินในภูมิภาค จะสามารถตอบสนองความต้องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศที่สามที่เส้นทางสายไหมลากผ่าน สร้างความเชื่อมโยง สร้างโอกาสใหม่ๆ ของการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ทั้งไทยและสิงคโปร์จะได้รับประโยชน์ร่วมกันอีกด้วย

ประเทศไทยและสิงคโปร์มีความเชื่อมโยงทางการค้าการลงทุนที่ใกล้ชิด โดยมูลค่าการค้าไทย-สิงคโปร์ ในปี 2560 อยู่ที่ 16,180.30  ล้านเหรียญสหรัฐ และมูลค่าเงินลงทุนโดยตรง (outflow) ของไทยในสิงคโปร์ที่ 18,531.01 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สูงที่สุดเทียบกับการลงทุนโดยตรงของไทยในกลุ่มประเทศอาเซียน และสิงคโปร์มีปริมาณเงินลงทุนในการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนกับบีโอไอในประเทศไทยสูงเป็นอันดับ 1 ของมูลค่าการลงทุนจากอาเซียน และอันดับ 2 จากต่างชาติทั้งหมด


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 27 มิ.ย. 2561 เวลา : 16:58:35
16-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 16, 2025, 12:58 pm