การตลาด
สกู๊ป ''แกรมมี่'' ชูแนวเพลงอินดี้เป็น 'Hub of Indie' ต่อยอดรายได้ธุรกิจเพลง


ตลาดเพลงอินดี้ของไทยในปัจจุบันถือว่ามีการเปิดกว้างและพัฒนาการมากขึ้น เห็นได้จากจำนวนศิลปินอินดี้ที่เกิดขึ้นใหม่ทุกวัน และมีแนวเพลงที่หลากหลายน่าสนใจมากขึ้น ทำให้คอเพลงอินดี้มีทางเลือกในการฟังเพลงในสไตล์ที่ตัวเองชอบ  ซึ่งจากการขยายตัวดังกล่าวทำให้วงการดนตรีของไทยเริ่มมีการขยายตัวในทิศทางที่ดีขึ้นตามไปด้วย 

 

 

 

 

จากการขยายตัวที่ดีของตลาดเพลงอิดี้  ทำให้ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เล็งเห็นโอกาสด้วยการเดินหน้า Re-Positioning สนามหลวงมิวสิก ให้เป็น Hub of Indie ที่จะเปิดรับ   และสนับสนุนศิลปินอินดี้ทุกแนวเพลง   ไม่ปิดกั้นหรือจำกัดรูปแบบของแนวดนตรี   ศิลปินจะได้รับอิสระในการคิด  การสร้างสรรค์ผลงานต่างๆ ที่ยังคงเอกลักษณ์ของตนเองเอาไว้

 

  

 

 

นายภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แม้วันนี้ศิลปินอินดี้จะมีช่องทางเป็นของตนเอง  แต่บริษัทก็จะขอเป็นส่วนหนึ่งในการเข้าไปสนับสนุนในการทำผลงานเพลง  เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการเปิดรับศิลปินอินดี้ที่ยังมองหาโอกาสในการแสดงความสามารถทางดนตรีด้วยการทำงานใน Artist Model 

สำหรับ Artist Model  ที่เปิดรับศิลปินจะมีด้วยกัน 4 รูปแบบ  คือ 1.ศิลปินอินดี้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ สามารถผลิต สร้างสรรค์เพลงและมิวสิควิดีโอ ได้ด้วยตนเอง โดยมอบให้สนามหลวงมิวสิกช่วยบริหารจัดการสิทธิ์ทั้งหมด 2.   ศิลปินอินดี้และสนามหลวงมิวสิกร่วมกันผลิต สร้างสรรค์เพลงและมิวสิควิดีโอ โดยเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ร่วมกัน 3.ศิลปินอินดี้เป็นศิลปินในสังกัดสนามหลวงมิวสิกอย่างเต็มรูปแบบ  และ 4.ศิลปินอินดี้หรือกลุ่มคนดนตรีที่ผลิต สร้างสรรค์เพลงเอง เข้ามาร่วมเป็นพันธมิตร โดยเป็นความร่วมมือระหว่างสนามหลวงมิวสิกและ Music Community นั้นๆ

 

 

 

 

ทั้งนี้  Artist Model ทุกรูปแบบ  ทางสนามหลวงมิวสิกจะเป็นผู้ดูแลบริหารจัดการสิทธิ์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการเผยแพร่, การประชาสัมพันธ์, การส่งเพลงให้เข้าไปอยู่ในทุกดิจิทัลแพลตฟอร์ม เช่น YouTube (ยูทูบ), JOOX (จู๊กซ์), Spotify (สปอติฟาย), Apple Music (แอปเปิ้ล มิวสิค), iTunes (ไอทูนส์) เพื่อสนับสนุนศิลปินอินดี้, เพลง, ข่าวสารให้ถูกกระจายไปถึงแฟนเพลงและเป็นที่รู้จักในวงกว้างยิ่งขึ้น ทั้งนี้ยังรวมถึงการค้าในรูปแบบของ Physical  (ฟิซิคอล), การทำเพลงรวมฮิต, Merchandise (เมอร์ชั่นไดซ์), การแสดงสด, เพลงประกอบภาพยนตร์, เพลงประกอบโฆษณา, เพลงประกอบรายการโทรทัศน์ อีกด้วย

 

 

 

 

ในด้านของกลยุทธ์การทำตลาด สนามหลวงมิวสิก จะเน้นไปที่ 3 องค์ประกอบหลัก  คือ 1.สนามปล่อยของ คือพื้นที่ของศิลปินอินดี้ทุกแนวดนตรีที่สามารถสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างอิสระ ด้วยรูปแบบของ Artist Model ที่หลากหลาย และได้รับการสนับสนุนในทุกช่องทางของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่และสนามหลวงมิวสิกอย่างเต็มที่  2. สนามโชว์ของ คือเวทีการแสดงความสามารถทางดนตรีของศิลปินอินดี้บนพื้นที่ที่จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่และสนามหลวงมิวสิก ได้จัดเตรียมเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็น บิ๊ก เมาท์เท่น มิวสิค เฟสติวัล, วอท เดอะ เฟส  มิวสิค เฟสติวัล, สนามหลวงมิวสิก เพลย์ไทม์ รวมถึงกิจกรรมอื่นๆของพันธมิตรทางดนตรี เช่น   The Knack Market (เดอะ แน็ค มาร์เก็ต) ของThe Jam Factory (เดอะแจมแฟคตอรี่), De Commune (เดอ คอมมูน) และ You2Play (ยูทูเพลย์)  และ 3. สนามลองของ คือพื้นที่ของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่และสนามหลวงมิวสิก ที่ได้จัดเตรียมเอาไว้ให้กับศิลปินในสังกัดฯ ประกอบไปด้วย อพาร์ตเมนต์คุณป้า, โลโมโซนิค และ ทาบัสโก้ โดยทั้ง 3 ศิลปินยังคงสามารถสร้างสรรค์เพลงที่เป็นเอกลักษณ์ได้อิสระอย่างเต็มที่

 

นายภาวิต กล่าวว่า  ตลอดระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมาที่สนามหลวงมิวสิกเปิดรับศิลปินอินดี้ทุกแนวดนตรีมีผู้สนใจเข้ามาสมัครมากกว่า  30 วง  เช่น  Ariy Shibuya (อารีย์ ชิบูย่า), Benz Beantown (เบนซ์ บีนทาวน์), Blues Tape (บลูส์เทป), Casinotone (คาสิโนโทน), Clockwork Motionless (คล็อกเวิร์ค โมชั่นเลส) เป็นต้น

 

 

หลังจากได้ศิลปินมาทำงานเพลงของศิลปินในวงต่างๆ ก็ติดอันดับชาร์ตเพลงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Top 50 Indie ของ JOOX, Artist Super Room,Best of the Week และ Yop Thai Chart ของ Apple Music, Top 10 Indie Chart ของ Cat Radio, เช่น เพลง น้ำตาท่วมจอ TABASCO (ทาบัสโก้) ที่ติดอันดับ 1 ของ Top 50 Indie ของ JOOX เป็นต้น

 

 

นอกจากนี้ หลายเพลงยังถูกเลือกไปเป็นเพลงประกอบรายการและเพลงประกอบซีรี่ส์มากมาย ซึ่งความสำเร็จที่ได้รับดังกล่าวทำให้ยอดวิวใน YouTube ของการรับชมมิวสิกวิดีโอของศิลปินอินดี้ผ่านช่องทาง GMM Grammy Official (จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ออฟฟิเชียล) ที่มีผู้ติดตามกว่า  12 ล้าน Subscribers   รวมถึงการรับชมผ่าน Sanamluang Music Official  มีผู้ติดตามสูงถึง 950,000 Subscribers ซึ่งการเติบโตของยอดวิวทั้งหมดนั้นมีค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 81.44% และยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการช่วยศิลปินสร้างรายได้เพิ่มขึ้น

นายภาวิต กล่าวปิดท้ายว่า สนามหลวงมิวสิกไม่เคยปิดกั้นรูปแบบของแนวดนตรี  ไม่ว่าจะเป็นดนตรีในแบบไหน ป็อป, ร็อค, แจ๊ส, ฟังก์, พังค์, สกา, ฮิปฮอป, เมทัล เพราะสนามหลวงมิวสิกคือสนามที่ให้ศิลปินมีอิสระในการสร้างสรรค์เพลง   เรื่องความต้องการของแต่ละฝ่าย แลกเปลี่ยนความคิดกัน แนะนำ และปรับจูนกันจนได้ออกมาเป็นเพลง ซึ่งที่ผ่านมามีศิลปินอยู่ 4 ประเภทที่เข้ามาอยู่ด้วยกันแล้ว ได้แก่  ศิลปินที่มาจากโครงการ Opening Act ของ Sanamluang Music Playtime , ศิลปินที่เป็นศิลปินอยู่แล้ว , ศิลปินบางกลุ่มก็จะรวมตัวกันเป็นศิลปินอินดี้กลุ่มเล็กๆ ทำดนตรีอยู่แล้ว และกลุ่ม Walk in คือ เดินมาหาบริษัท 

 

นอกจากจะมุ่งเน้นให้ความสำคัญในด้านของการพัฒนาคอนเทนต์แล้ว แกรมมี่ ยังมุ่งเน้นการแพล็ตฟอร์มใหม่ๆ เพื่อเพิ่มความสามารถในการนำคอนเทนต์  เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึง และตรงกลุ่มเป้าหมายมากที่สุดไม่ว่าจะเป็น Spotify, Joox  หรือ OMU ซึ่งจะเสริมความแข็งแกร่งในตลาดมิวสิคสตรีมมิ่ง ซึ่งจะเป็นช่องทางในการเผยแพร่คอนเทนต์ ไปยังกลุ่มเป้าหมายที่จะช่วยขยายฐานกลุ่มผู้ฟังให้กว้างขึ้น

 

 

 

 

แนวทางดังกล่าวถือเป็นการตอกย้ำการเป็น Content และ Infrastructure Provider ซึ่ง แกรมมี่ พร้อมจะร่วมเป็นพาร์ทเนอร์ในทุกพันธมิตร เพื่อนำคอนเทนต์ที่มีอยู่มาพัฒนาสู่ Fan-based Marketing เช่น การร่วมมือกับแอป LINE ปล่อยมิวสิค สติกเกอร์ ร้องเพลงได้ ความยาว 8 วินาที จากสติกเกอร์ชุด GMM HIT SONGS FOR DAILY LIFE  ล่าสุดได้ร่วมกับ OTV ผู้ให้บริการ VOD (Video On Demand) เพื่อพัฒนาคอนเทนต์ออกมาในรูปแบบแพลตฟอร์มดูวิดีโอที่ชื่อ OMU โดยจะเป็นแบบแอพพลิเคชั่นที่รองรับ iOS และ Android รวมถึงบนตัวเว็บไซต์ได้  ซึ่งทั้งหมดนี้ ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของการสร้างรายได้ในกลุ่มธุรกิจเพลงให้เพิ่มขึ้น 


LastUpdate 28/06/2561 11:22:45 โดย : Admin
16-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 16, 2024, 11:43 am