"เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนพฤษภาคม ปี 2561 ยังคงขยายตัว นำโดย กทม.และปริมณฑล ภาคกลาง และภาคใต้ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน และการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนในหลายภูมิภาค รวมถึงการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี
นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พร้อมด้วยนายศรพล ตุลยะเสถียร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนพฤษภาคม ปี 2561 "เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนพฤษภาคม ปี 2561 ยังคงขยายตัว นำโดย กทม.และปริมณฑล ภาคกลาง และภาคใต้ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน และการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนในหลายภูมิภาค รวมถึงการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี" โดยมีรายละเอียด สรุปได้ดังนี้
กทม.และปริมณฑล เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการท่องเที่ยว เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนพฤษภาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 5.0 ต่อปี ตามการขยายตัวในทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดนนทบุรี และกรุงเทพมหานคร เป็นต้น สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวที่ร้อยละ 11.2 ต่อปี ตามการขยายตัวในจังหวัดนนทบุรี และสมุทรสาคร เป็นต้น เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวร้อยละ 8.1 และ 2.5 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการในเดือนพฤษภาคม อยู่ที่ 4,540.8 ล้านบาท จากการลงทุนในจังหวัดสมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร เป็นสำคัญ สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในเกณฑ์ดี ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ในเดือนเมษายน 2561 ขยายตัวร้อยละ 7.8 และ 18.8 ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวได้ดีทั้งจากผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยและชาวต่างประเทศ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤษภาคม (เบื้องต้น) 2561 ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ -1.4 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนเมษายน 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคกลาง เศรษฐกิจส่งสัญญาณขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนพฤษภาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 5.7 ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี และอ่างทอง เป็นสำคัญ เช่นเดียวกันกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 38.5 ต่อปี สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 5.3 และ 5.1 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนเมษายน 2561 ขยายตัวร้อยละ 5.7 และ 10.3 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการผลิตภาคเกษตรที่ขยายตัวในเกณฑ์ดี จากการเพิ่มขึ้นของข้าวเปลือก และข้าวโพด เป็นต้น ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤษภาคม (เบื้องต้น) 2561 อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคที่ร้อยละ 0.9 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนเมษายน 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.3 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคใต้ เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ใน เดือนพฤษภาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 8.2 ต่อปี ตามการเพิ่มขึ้นในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ต กระบี่ และพังงา เป็นต้น สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 5.6 ต่อปี ตามการขยายตัวในจังหวัดพังงา กระบี่ และตรัง เป็นต้น เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนพฤษภาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 44.5 ต่อปี นอกจากนี้เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการในเดือนพฤษภาคม 2561 อยู่ที่ 1,776.1 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 388.8 ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดสงขลา และกระบี่ เป็นสำคัญ สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ในเดือนเมษายน 2561 ขยายตัวร้อยละ 6.4 และ 15.0 ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดฝั่งอันดามัน เป็นต้น ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤษภาคม ปี 2561 (เบื้องต้น) อยู่ในระดับเอื้อต่อการบริโภคที่ร้อยละ 1.4 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนเมษายน 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.6 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคตะวันตก เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากการบริโภค และการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการท่องเที่ยว เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ใน เดือนพฤษภาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 15.9 ต่อปี ตามการเพิ่มขึ้นในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กาญจนบุรี และสุพรรณบุรี เป็นต้น สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่ง ขยายตัวร้อยละ 34.9 ต่อปี ตามลำดับ ตามการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด ขณะที่การลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ในเดือนพฤษภาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 17.5 ต่อปี รวมถึงเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการในเดือนพฤษภาคม 2561 อยู่ที่ 752 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 257.0 ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดกาญจนบุรี เป็นสำคัญ สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดีทั้งจำนวนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ในเดือนเมษายน 2561 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 6.1 และ 12.8 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤษภาคม (เบื้องต้น) 2561 ที่ยังอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคที่ร้อยละ 1.3 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนเมษายน 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคเหนือ เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยว เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนพฤษภาคม 2561 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.6 ต่อปี สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 12.6 ต่อปี ตามการขยายตัวจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และลำปาง เป็นต้น เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวร้อยละ 4.1 ต่อปี สอดคล้องกับเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ ในเดือนพฤษภาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 19.0 ต่อปี จากการลงทุนจังหวัดเชียงใหม่ เป็นสำคัญ สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในเกณฑ์ดี ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ในเดือนมีนาคม 2561 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 4.0 และ 6.8 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤษภาคม (เบื้องต้น) 2561 ยังคงอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคในภูมิภาคที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนเมษายน 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เศรษฐกิจส่งสัญญาณขยายตัว โดยมีการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงภาคเกษตรและภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนพฤษภาคม 2561 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.2 ต่อปี สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง จากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวร้อยละ 18.7 ต่อปี จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดกาฬสินธุ์ และอุบลราชธานี เป็นต้น ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังคงทรงตัว แต่มีการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรเพิ่มขึ้น สะท้อนจากเงินทุนของโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการ ในเดือนพฤษภาคม 2561 อยู่ที่ 6,198.0 ล้านบาท ตามการลงทุนในจังหวัดอำนาจเจริญ และนครราชสีมา เป็นต้น สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนเมษายน 2561 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 5.1 และ 10.7 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการผลิตภาคเกษตรที่ขยายตัวในเกณฑ์ดี จากการขยายตัวในผลผลิตข้าว อ้อยโรงงาน และมันสำปะหลัง เป็นต้น ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤษภาคม (เบื้องต้น) 2561 ปรับตัวลดลงมาที่ร้อยละ -1.2 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนเมษายน 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.1 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคตะวันออก เศรษฐกิจทรงตัว โดยมีการบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยวช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ใน เดือนพฤษภาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 14.1 ต่อปี ตามการเพิ่มขึ้นในจังหวัดปราจีนบุรี และฉะเชิงเทรา เป็นต้น สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 8.0 ต่อปี ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรทรงตัว สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนเมษายน 2561 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 7.9 และ 17.7 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับผลผลิตอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคตะวันออกที่ปรับเพิ่มขึ้นอยู่เหนือระดับ 100 มาอยู่ที่ 106.3 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ และอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤษภาคม (เบื้องต้น) 2561 ปรับตัวลดลงมาที่ร้อยละ -1.2 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนเมษายน 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
โดยมีรายละเอียดเพิ่มเติมปรากฏตามเอกสารแนบ
ข่าวเด่น