วันที่ 2 ก.ค. นับตั้งแต่ปี 2540 ถือเป็นวันที่ครบรอบการลอยตัวค่าเงินบาท หรือ วิกฤติต้มยำกุ้ง ปีนี้นับเป็นปีที่ 21 แล้ว หลังจากที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นมา ซึ่งสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันที่แม้จะมีความผันผวน แต่แวดวงการเงินต่างก็มั่นใจว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยนี้อีก
โดย ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยได้รับบทเรียนจากปี 2540 และได้เดินผ่านจุดดังกล่าวมาไกลแล้ว ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา เราได้ช่วยกัน สร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจให้ดีขึ้นมาก เสถียรภาพระบบเศรษฐกิจการเงินไทยมีความมั่นคง เช่น ปีที่แล้วเราเกินดุลบัญชีเดินสะพัดถึง 11.2% ของจีดีพี หรือประมาณ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ และปีนี้คาดว่าจะเกินดุลถึง 4 หมื่นล้านดอลลาร์ ต่างจากช่วงก่อนเกิดวิกฤตปี 2540 ที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องกันหลายปี เงินสำรองระหว่างประเทศก็มีความมั่นคง สามารถเป็นกันชนรองรับแรงปะทะจากความผันผวนของตลาดเงินตลาดทุนโลกได้เป็นอย่างดี โดยเงินสำรองระหว่างประเทศของไทยอยู่ที่ 2.1 แสนล้านดอลลาร์ (ไม่รวมฐานะซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าสุทธิ 33 พันล้านดอลลาร์) ซึ่งมากกว่าหนี้ต่างประเทศโดยรวมที่ 1.5 แสนล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 3.5 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ด้านหนี้ต่างประเทศโดยรวมอยู่ที่ 35% ของจีดีพี ลดลงจาก 70% ในช่วงปี 2540 นอกจากนี้ การถือครองพันธบัตรของนักลงทุนต่างชาติมีสัดส่วนเพียง 10% ของมูลค่าตลาดพันธบัตรทางการทั้งหมด ทำให้ความเสี่ยงในกรณีของไทยที่เงินทุนไหลออกจะกระทบเสถียรภาพเศรษฐกิจจึงต่ำกว่าประเทศอื่น
ด้านการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ หลังจากปี 2540 เปลี่ยนมาใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น ควบคู่กับระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว ซึ่งการเคลื่อนไหวของค่าเงินจะถูกกำหนดโดยกลไกตลาด ไม่สร้างความบิดเบือนในระบบอัตราแลกเปลี่ยน และไม่สร้างผลข้างเคียงในระบบเศรษฐกิจเหมือนกับตอนที่ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ในช่วงปี 2540 โดยในกรอบปัจจุบัน ธปท.จะดูแลอัตราแลกเปลี่ยนในกรณีที่ค่าเงินผันผวนสูงผิดปกติ การตัดสินนโยบายการเงินจะประเมินจากปัจจัยต่างๆ อย่างรอบด้านทั้งการเติบโตของเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน เพื่อให้นโยบายการเงินเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศไทยมากที่สุด
การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกด้านหนึ่ง คือ ภาคธุรกิจไทยมีความเข้มแข็งขึ้นมาก ดูจากผลประกอบการที่ดี ความสามารถในการแข่งขัน ธรรมาภิบาล และมีการระดมทุนที่หลากหลายมากขึ้นจากผู้บริหารให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงมากขึ้น ไม่ก่อหนี้เกินตัว สะท้อนจากสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) ของภาคธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์ไทยที่ 1.2 เท่า อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับช่วงวิกฤตปี 2540 ซึ่งมี D/E Ratio สูงถึง 5 เท่า
ด้านสถาบันการเงินไทยมีความเข้มแข็งกว่าเดิมมาก สัดส่วนหนี้ที่ ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ลดลงต่อเนื่องจาก 45% เมื่อปี 2542 มาอยู่ที่ 2.9% ในไตรมาสแรกปี 2561 อีกทั้งสถาบันการเงินมีเงินสำรอง เงินกองทุน และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สามารถรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ดี อัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ 18% สูงเป็นอันดับต้นๆ ของภูมิภาค
อีกทั้ง ธปท.ได้นำเกณฑ์การกำกับดูแลสากล (Basel III) นำมาประยุกต์ใช้เพื่อให้สถาบันการเงินมีความมั่นคงมากขึ้น อาทิ การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับสถานการณ์ด้านสภาพคล่องที่มีความรุนแรง (Liquidity Coverage Ratio : LCR) นอกจากนี้ให้ความสำคัญมากกับ "ธรรมาภิบาล" (Good Governance) อาทิ การมีโครงสร้างคณะกรรมการที่ดี การสร้างวัฒนธรรมองค์กรในการดูแลความเสี่ยง การจัดท่าแผนล่วงหน้ารองรับการจัดการดูแลแก้ไขปัญหา เป็นต้น ในไตรมาส 4 ปี 2561 นี้ ประเทศไทยกำลังจะเข้าร่วมการประเมินภาคการเงิน (Financial Sector Assessment Program : FSAP) ที่จัดทำโดยไอเอ็มเอฟและธนาคารโลก ซึ่งผลการประเมินดังกล่าวจะช่วยให้เราทราบว่ามีจุดอ่อนเรื่องใดบ้างที่ต้องแก้ไขเพิ่มเติม
ขณะที่ ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ให้ความเห็นและวิเคราะห์ถึงวิกฤตการณ์เศรษฐกิจในอนาคตเนื่องในโอกาสครบรอบ 21 ปี การลอยตัวค่าเงินบาทหรือวิกฤตการณ์เศรษฐกิจการเงินปี 2540 ว่า ประเทศไทยจะยังไม่เผชิญวิกฤตการณ์เศรษฐกิจการเงินแบบปี 2540 จนกระทั่งต้องเข้ารับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจการเงินค่อนข้างดี อย่างน้อยเราจะไม่เจอกับภาวะวิกฤติแบบปี 2540 ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า
ส่วนประเทศในอาเซียนที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤติแบบปี 2540 คือ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย นอกจากนี้ยังมี ตุรกี อาร์เจนตินา และ อิตาลี ที่มีโอกาสเข้าโครงการรับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศเช่นเดียวกัน
ข่าวเด่น