การค้า-อุตสาหกรรม
เร่งแก้ปมปัญหามะพร้าวราคาตก วางเกณฑ์เปิดตลาดภายใต้ WTO-AFTA คุมเข้มนำเข้าช่วงผลผลิตออกตลาด


สศก. ระบุ สถานการณ์ราคามะพร้าวเดือนมิถุนายน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 5.96 บาท เมื่อเทียบกับมิถุนายนปี 2560 ลดลงร้อยละ 57.73 ด้านคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช  เร่งช่วยเกษตรกร เห็นชอบเปิดตลาดมะพร้าวและผลิตภัณฑ์ ภายใต้กรอบ WTO และ AFTA คราวละ 3 ปี ตามข้อผูกพัน วางมาตรการเข้ม คุมการนำเข้าช่วงที่ผลผลิตมะพร้าวไทยออกสู่ตลาดมาก

 

 

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ชี้แจงถึงกรณีสถานการณ์ราคามะพร้าวตกต่ำในขณะนี้ พบว่า ราคาที่เกษตรกรขายได้ (ผลใหญ่) ปี 2561 (มกราคม –  มิถุนายน) ราคามีแนวโน้มลดลง เฉลี่ยกิโลกรัมละ 9.74 บาท เมื่อเทียบกับปี 2560 เฉลี่ยที่กิโลกรัมละ 13.62 บาท (ลดลงร้อยละ 28.49) โดยในเดือนมิถุนายน 2561 ราคาเฉลี่ยที่กิโลกรัมละ 5.96 บาท และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 เฉลี่ยกิโลกรัมละ 14.10 บาท (ลดลงร้อยละ 57.73)

สำหรับผลผลิตมะพร้าวปี 2561 มีประมาณ 860,160 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2560  ที่มีจำนวน 832,895 ตัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.44) เนื่องจากแหล่งปลูกมะพร้าวที่สำคัญ คือ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เริ่มฟื้นตัวจากการระบาดของศัตรูพืชแมลงดำหนามและหนอนหัวดำ ประกอบกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สนับสนุนให้เกษตรกรใช้ศัตรูธรรมชาติตัวเบียนบราคอนในพื้นที่ระบาดเพื่อทำลายศัตรูพืช ขณะเดียวกันในช่วงที่ผ่านมามีปริมาณน้ำฝนเพียงพอผลผลิตมะพร้าวจึงเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ผลผลิตต่อไร่ ปี 2561 อยู่ที่ 783 กิโลกรัม หรือ 626 ผลต่อไร่ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี2560 ที่ให้ผลผลิต 754 กิโลกรัม หรือ 603 ผลต่อไร่

อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ผ่านมา ในปี 2556 - 2559 พื้นที่ปลูกมะพร้าวได้รับผลกระทบจากปัญหาการระบาดของแมลงศัตรูมะพร้าว ส่งผลให้ผลผลิตมะพร้าวภายในประเทศลดลง ขณะที่ความต้องการมะพร้าวเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีอัตราการเติบโตประมาณ 10%  จึงทำให้มีการนำเข้ามะพร้าวเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ราคาตกต่ำลง ซึ่งสินค้ามะพร้าวเป็นสินค้าที่ไทยต้องเปิดตลาดตามข้อผูกพัน

ดังนั้น คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช จึงมีมติเห็นชอบให้เปิดตลาดมะพร้าวและผลิตภัณฑ์ ภายใต้กรอบ WTO และ AFTA คราวละ 3 ปี (ปี 2560 - 2562) ตามข้อผูกพัน และมีการบริหารการนำเข้าปีต่อปี โดยการบริหารการนำเข้า ปี 2561 ดำเนินการ ดังนี้  1) ภายใต้กรอบ WTO  ให้มะพร้าวผลและมะพร้าวฝอย ในโควตาปริมาณ 2,317 และ 110 ตัน ตามลำดับ อัตราภาษีมะพร้าวผลและมะพร้าวฝอย ในโควตา ร้อยละ 20 นอกโควตา ร้อยละ 54  ส่วนเนื้อมะพร้าวแห้ง ปริมาณ 1,157 ตัน อัตราภาษีในโควตา ร้อยละ 20 นอกโควตา ร้อยละ 36  และน้ำมันมะพร้าว ปริมาณ 401 ตัน อัตราภาษีในโควตาร้อยละ 20 นอกโควตา           ร้อยละ 52  การบริหารการนำเข้าเพื่อดูแลเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าว  กำหนดช่วงเวลานำเข้าในโควตา คือช่วงเดือนมกราคม –พฤษภาคม  และพฤศจิกายน – ธันวาคม  ซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตไทยออกสู่ตลาดน้อย หากต้องการนำเข้าต้องเสียภาษีนอกโควตาตามที่กำหนดไว้  สำหรับการนำเข้าน้ำมันมะพร้าวให้นำเข้าได้ไม่จำกัดช่วงเวลา และผู้นำเข้าต้องเป็นผู้ใช้มะพร้าวเป็นวัตถุดิบ และต้องขออนุญาตนำเข้าจากกรมการค้าต่างประเทศ อีกทั้งต้องเป็นนิติบุคคลที่ใช้มะพร้าวเป็นวัตถุดิบในกิจการของตนเองและดำเนินกิจการอยู่ในปัจจุบันด้วย

2) ภายใต้กรอบ AFTA  การนำเข้ามะพร้าวผล เนื้อมะพร้าวฝอย และน้ำมันมะพร้าว ไม่จำกัดปริมาณ อัตราภาษีร้อยละ 0 ยกเว้นเนื้อมะพร้าวแห้ง อัตราภาษีร้อยละ 5  และให้มีการบริหารการนำเข้าเช่นเดียวกับกรอบWTO  คือ กำหนดช่วงเวลานำเข้าช่วงเดือนมกราคม – พฤษภาคม  และพฤศจิกายน – ธันวาคม  โดยให้นำเข้ามาเพื่อใช้ในกิจการของตนเองเท่านั้น ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย สศก. ขณะนี้ได้เตรียมนำเสนอคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช เพื่อพิจารณาทบทวนการบริหารการนำเข้าต่อไปเพื่อเร่งช่วยเหลือเกษตรกรโดยเร็ว


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 05 ก.ค. 2561 เวลา : 12:09:07
16-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 16, 2025, 1:01 pm