การค้า-อุตสาหกรรม
'พาณิชย์' เผย เทรนด์ใหม่คนรักสุขภาพในญี่ปุ่น สนใจอาหารโลว์คาร์บ ไดเอต


กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยตลาดอาหารโลว์คาร์บ (Low-Carb) มาแรงในญี่ปุ่น    คนทุกเพศทุกวัยนิยมบริโภค เหตุเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ แนะผู้ผลิตอาหารไทยจับตาและเตรียมพร้อมวางแผนผลิตสินค้าป้อน คาดโอกาสมาแน่ แต่ต้องศึกษากฎหมายเกี่ยวกับการติดฉลากอาหารสุขภาพให้ดีด้วย

 

 

นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเปิดเผยว่าสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ กรุงโตเกียว ได้รายงานแนวโน้มอาหารโลว์คาร์บ(Low-Carb /Low-Carbohydrate) ที่กำลังขยายตัวในตลาดญี่ปุ่นโดยพบว่าปัจจุบันนี้ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นกำลังนิยมอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ หรืออาหารโลว์คาร์บ เพราะเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารใหม่ที่มีความหลากหลาย และเป็นผลดีต่อสุขภาพ ไม่เพียงแต่กลุ่มผู้สูงอายุที่นิยมบริโภค แต่การบริโภคยังขยายวงกว้างไปยังคนหนุ่มสาวเพิ่มมากขึ้น

ปัจจุบันตลาดอาหารโลว์คาร์บในประเทศมีการขยายตัวเป็นอย่างมาก กลุ่มผู้ผลิตอาหารต่างให้ความสำคัญกับการเข้ามาทำตลาดมีการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทำให้มูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และได้มีการคาดกันว่าความต้องการที่เพิ่มขึ้น จะขยายไปสู่อาหารสำเร็จรูปที่นำเข้าจากต่างประเทศในอนาคต จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ผลิตอาหารของไทยที่จะพิจารณาและเตรียมความพร้อมในการผลิตอาหารโลว์คาร์บเพื่อขยายตลาดในญี่ปุ่น

สำหรับตัวอย่างสินค้าอาหารโลว์คาร์บที่มีการทำตลาดในญี่ปุ่น เช่น เบียร์โลว์คาร์บ ขนมโลว์คาร์บ ข้าวโลว์คาร์บ ข้าวต้มและซุปโลว์คาร์บ อุดงไก่โลว์คาร์บ สปาเก็ตตี้คาโบนาร่าโลว์คาร์บ เส้นโลว์คาร์บแช่แข็ง พิซซ่าโลว์คาร์บ เป็นต้น

นางจันทิรากล่าวว่า ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการจะขยายตลาดอาหารโลว์คาร์บเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่น จะต้องทำการศึกษากฎหมายเกี่ยวกับฉลากอาหารสุขภาพ เพื่อให้สามารถแสดงฉลากสินค้าได้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดและไม่สร้างความสับสนให้กับผู้บริโภคญี่ปุ่น โดยกฎหมายส่งเสริมสุขภาพ (Health Promotion Law) กำหนดให้สามารถแสดงฉลาก “Carbohydrate Zero” ได้ หากมีคาร์โบไฮเดรตไม่เกิน 0.5 กรัม สำหรับอาหาร 100 กรัม กรณีเครื่องดื่ม 100 มิลลิกรัม ในขณะที่การแสดงฉลาก “Carbohydrate off” จะต้องมีคาร์โบไอเดรตไม่เกิน 5 กรัม สำหรับอาหาร 100กรัม หรือไม่เกิน 2.5 กรัม สำหรับเครื่องดื่ม 100 มิลลิกรัม รวมทั้งจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายสุขอนามัยและความปลอดภัยทางอาหารที่เกี่ยวข้องของญี่ปุ่นอย่างเคร่งครัดด้วย

ทั้งนี้ บริษัท Yano Reserch Institute Ltd. ได้รายงานภาพรวมตลาดอาหารสุขภาพของญี่ปุ่นปีงบประมาณ 2560 (เม..2560-มี..2561 คาดว่าจะมีมูลค่า 7.619 แสนล้านเยน หรือประมาณ2.23    แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.9% ตามการขยายตัวของกระแสการรักสุขภาพ ขณะเดียวกัน สมาคมคนรักษ์สุขภาพต่างๆ ของญี่ปุ่น ก็ได้มีการเร่งประชาสัมพันธ์อาหารเพื่อสุขภาพอย่างแพร่หลาย ทำให้มีความต้องการเพิ่มขึ้น ส่วนผู้ผลิตก็มีการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง และในร้านค้าปลีก เริ่มมีจำหน่ายผ่านร้านสะดวกซื้อและร้านค้าต่างๆ เพิ่มมากขึ้น


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 09 ก.ค. 2561 เวลา : 12:25:14
16-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 16, 2025, 12:45 pm