เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ร่างพระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อการจัดการทรัพย์สินส่วนบุคคล พ.ศ. ....


นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง ได้เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2561 ได้มีมติ อนุมัติในหลักการของร่างพระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อการจัดการทรัพย์สินส่วนบุคคล .. .... (ร่างพระราชบัญญัติฯ) ซึ่งจะเป็นการนำหลักกฎหมายทรัสต์มาใช้ เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการทรัพย์สินส่วนบุคคลให้มีประสิทธิภาพ และช่วยลดการนำทรัพย์สินออกไปบริหารจัดการนอกประเทศ อีกทั้งสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในสถานการณ์ปัจจุบันตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ภายใต้ยุทธศาสตร์การสร้าง ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน ที่ให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการเงินและสถาบันการเงิน เพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยร่างพระราชบัญญัติฯ มีสาระสำคัญ สรุปได้ ดังนี้

 


 

1. กำหนดให้นิยามของทรัสต์ หมายถึง นิติสัมพันธ์ที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน ซึ่งมีบุคคลที่เกี่ยวข้อง 3 ฝ่ายด้วยกัน ได้แก่ ผู้ก่อตั้งทรัสต์ ทรัสตี และผู้รับประโยชน์ โดยผู้ก่อตั้งทรัสต์ได้ทำสัญญาก่อตั้งทรัสต์ให้ทรัสตี ทำหน้าที่บริหารจัดการทรัพย์สินให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งทรัสต์ เพื่อประโยชน์ของผู้รับประโยชน์ ทั้งนี้ ระยะเวลาในการจัดการกองทรัสต์ได้กำหนดระยะเวลาจัดการกองทรัสต์ไม่เกิน 100 ปี

2. กำหนดขอบเขตการใช้ทรัสต์ โดยให้การก่อตั้งทรัสต์ตามพระราชบัญญัตินี้ต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อการจัดการทรัพย์สินส่วนบุคคล และต้องไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อการระดมทุนจากประชาชนและการจัดการทรัสต์ที่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน

3. คุณสมบัติของผู้ก่อตั้งทรัสต์ ทรัสตี และผู้รับประโยชน์

(1) ผู้ก่อตั้งทรัสต์ อาจเป็นบุคคลหรือนิติบุคคลใด แต่ต้องไม่เป็นบุคคลเดียวกับทรัสตี และทรัสตีต้องไม่เป็นผู้รับประโยชน์

(2) ทรัสตี จะต้องได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเป็นทรัสตีจากคณะกรรมการ ...

(3) ผู้รับประโยชน์ เป็นบุคคลตามที่กำหนดในสัญญาก่อตั้งทรัสต์ แต่อาจเป็นผู้ก่อตั้งทรัสต์ได้ รวมทั้งผู้รับประโยชน์จะเป็นบุคคลรายเดียวหรือกลุ่มบุคคลก็ได้

4. กำหนดสิทธิประโยชน์และความคุ้มครองกองทรัสต์ เพื่อรักษาทรัพย์สินของกองทรัสต์ให้ยังคงอยู่ในกองทรัสต์

5. กำหนดหน้าที่และความรับผิดของทรัสตี โดยทรัสตีมีหน้าที่จัดการทรัพย์สินให้เป็นไปตามสัญญาก่อตั้งทรัสต์และพระราชบัญญัตินี้ โดยจะต้องจัดการทรัพย์สินด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ที่ดีที่สุดของผู้รับประโยชน์ และต้องจัดการทรัพย์สินด้วยความระมัดระวัง และเมื่อมีการผิดหน้าที่ในการจัดการกองทรัสต์หรือจัดการทรัพย์สินไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นไปตามสัญญา ทรัสตีต้องรับผิดชดใช้ความเสียหายให้แก่กองทรัสต์และผู้รับประโยชน์

6. การกำกับดูแลตามพระราชบัญญัตินี้ กำหนดให้คณะกรรมการ ... เป็นผู้กำกับดูแลการให้ใบอนุญาตแก่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นทรัสตี

ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติฯ ที่กระทรวงการคลังเสนอ นอกจากนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการทรัพย์สินส่วนบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนช่วยลดการนำทรัพย์สินออกไปบริหารจัดการนอกประเทศด้วยแล้ว ยังมีส่วนสำคัญในการสร้างศักยภาพสถาบันการเงินไทยและตลาดทุนไทยให้สามารถแข่งขันกับตลาดต่างประเทศ และเพิ่มโอกาสในการทำธุรกรรมกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งทำให้ประชาชนตั้งแต่รายเล็กไปจนถึงกลุ่มธุรกิจของครอบครัวขนาดใหญ่ได้มีเครื่องมือในการใช้ทรัสต์เป็นทางเลือกใหม่ในการบริหารจัดการทรัพย์สินส่วนบุคคลให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและตอบสนองต่อความต้องการใช้ทรัสต์มาบริหารจัดการทรัพย์สินส่วนบุคคล และเจตจำนงในการส่งต่อทรัพย์สินไปยังทายาทในรุ่นถัดไป โดยไม่ต้องกังวลใจในเรื่องการตกทอดทรัพย์สิน ทำให้มีความมั่งคั่งและยั่งยืนของทรัพย์สินในประเทศ โดยจะส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 10 ก.ค. 2561 เวลา : 17:50:41
28-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 28, 2024, 5:45 pm