การค้า-อุตสาหกรรม
WTO ฟันธง ออสเตรเลียไม่ผิดคดีบุหรี่ซองเรียบ


นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า องค์การการค้าโลก หรือ WTO ได้ประกาศผลการพิจารณาคดีเมื่อสิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ตัดสินให้ออสเตรเลียชนะคดีที่ถูกยูเครน ฮอนดูรัส สาธารณรัฐโดมินิกัน คิวบา และอินโดนีเซีย ฟ้องว่าการออกกฎหมายซองบุหรี่แบบเรียบ หรือ plain packaging” ห้ามแสดงเครื่องหมายการค้าหรือสัญลักษณ์ใดบนซองบุหรี่ และขนาด แบบ และสีของตัวอักษรที่เขียนบนซองบุหรี่ต้องเป็นแบบเดียวกันเท่านั้น ไม่ขัดกับพันธกรณีของ WTO และไม่ถือเป็นการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งไม่ได้สร้างอุปสรรคทางการค้าเกินจำเป็น เป็นผลให้ออสเตรเลียมีความชอบธรรมที่จะใช้มาตรการดังกล่าวต่อไป  

       

 

นางอรมน อธิบายว่า ออสเตรเลียเป็นประเทศแรกที่ออกกฎหมายซองบุหรี่แบบเรียบ เมื่อปี 2554 กำหนดให้ซองบุหรี่ที่ขายในออสเตรเลียต้องแสดงภาพคำเตือนถึงอันตรายของบุหรี่ และส่วนที่เหลือให้พิมพ์ได้เฉพาะชื่อยี่ห้อบุหรี่ด้วยตัวอักษรขนาดเดียวกันบนพื้นซองสีเขียวมะกอกเหมือนกันทุกยี่ห้อ รวมทั้งห้ามพิมพ์เครื่องหมายการค้า หรือสัญลักษณ์ใดๆ บนพื้นที่ซองบุหรี่ ทำให้ประเทศผู้ส่งออกบุหรี่ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้มาตรการยื่นฟ้องออสเตรเลียต่อ WTO ว่ามาตรการดังกล่าวก่อให้เกิดการจำกัดทางการค้าเกินความจำเป็น ละเมิดการใช้สิทธิในตัวเครื่องหมายการค้าและสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่ต้องได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ถือเป็นการละเมิดกฎกติกาการค้าระหว่างประเทศ ภายใต้ความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (TRIPS Agreement) ความตกลงว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (TBT Agreement) และความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า (GATT 1994) โดยคดีดังกล่าวนับเป็นคดีสำคัญที่ WTO ต้องตัดสินประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับการใช้มาตรการเพื่อประโยชน์ทางสาธารณสุข ที่อาจขัดต่อกฎกติกาการค้าระหว่างประเทศภายใต้ความตกลงของ WTO

นางอรมน เสริมว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้ติดตามกรณีพิพาทดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และไทยได้เข้าร่วมเป็นประเทศที่สาม (Third Party) ติดตามกระบวนการพิจารณา รวมทั้งได้ร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็นข้อกฎหมายเรื่องการตีความความตกลงWTO ซึ่งผลคำตัดสินของ WTO ครั้งนี้ ถือเป็นกรณีตัวอย่างการตีความของ WTO ที่ให้ความยืดหยุ่นรัฐในการใช้มาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาสาธารณสุข แต่ก็มีข้อสังเกตว่า ประเด็นสำคัญที่ช่วยให้ออสเตรเลียชนะคดี คือ ออสเตรเลียมีการกำหนดใช้มาตรการซองบุหรี่แบบเรียบคู่กับมาตรการควบคุมยาสูบอื่นๆ อย่างครบถ้วนเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการทางภาษี การจำกัดการโฆษณา การจำกัดการขายและการบริโภค ตลอดจนการควบคุมการค้าบุหรี่ที่ผิดกฎหมาย เป็นต้น ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญในการพิจารณาคดีของ WTO ว่าออสเตรเลียมีเหตุผลอันสมควรในการควบคุมการบริโภคและลดภัยอันตรายของยาสูบอย่างแท้จริง

นางอรมน เพิ่มเติมว่า คำตัดสินของคณะผู้พิจารณาของ WTO นี้ยังไม่ถือเป็นที่สุด โดยประเทศผู้ฟ้องมีสิทธิยื่นอุทธรณ์คำตัดสินได้ก่อนที่ WTO จะมีมติรับรองคำตัดสิน ซึ่งคาดว่าจะมีกำหนดให้สมาชิก WTO ลงมติในคดีนี้ประมาณเดือนสิงหาคม 2561 แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงที่ประเทศผู้ฟ้องจะยื่นอุทธรณ์ ซึ่งโดยปกติกระบวนการอุทธรณ์ใช้เวลาพิจารณาไม่เกิน 90 วัน อย่างไรก็ดี ปัจจุบันสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ของ WTO ว่างลง 3 ตำแหน่ง จากทั้งหมด 7 ตำแหน่ง ในเดือนกันยายนนี้ ก็จะว่างเพิ่มอีก 1 ตำแหน่ง แต่ยังไม่สามารถเริ่มต้นกระบวนการคัดเลือกคนใหม่ได้ ทำให้การพิจารณาคดีต่างๆ ต้องล่าช้าออกไป จึงอาจทำให้กระบวนการอุทธรณ์ในคดีนี้ต้องใช้เวลามากกว่าที่กำหนด ซึ่งกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจะติดตามกรณีดังกล่าวอย่างใกล้ชิดต่อไป


LastUpdate 11/07/2561 15:59:24 โดย : Admin
16-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 16, 2025, 1:12 pm