การค้า-อุตสาหกรรม
'พาณิชย์' หารือสภาหอการค้าฯ ไม่กังวลสงครามการค้า เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสส่งออกแทนที่ตลาดที่ถูกขึ้นภาษี


นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังการหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับภาคเอกชนกลุ่มธุรกิจเกษตรและอาหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2561 เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา จีน และการตอบโต้ทางการค้าของประเทศอื่นๆ รวมทั้งสหภาพยุโรป ทั้งนี้ แม้ว่าความขัดแย้งทางการค้าดังกล่าวจะไม่มีเป้าหมายที่จะโจมตีการค้ากับไทยโดยตรง แต่ประเทศข้างต้นล้วนเป็นประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย โดยในเบื้องต้นภาคเอกชนเห็นร่วมกันว่าในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรของไทยน่าจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง

 

 

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ในสถานการณ์ความขัดแย้งได้สร้างโอกาสแก่ไทย ที่จะส่งสินค้าเข้าไปแทนที่สินค้าที่ถูกเก็บภาษี ภาคเอกชนจึงควรเตรียมตัวในเชิงรุกและใช้ประโยชน์ โดยสินค้าที่คาดว่าไทยน่าจะมีโอกาสขยายการส่งออกไปจีนได้เพิ่มขึ้น แทนที่สินค้าสหรัฐฯ ที่ถูกจีนขึ้นภาษี ได้แก่ สินค้าประมง เช่น กุ้ง ซึ่งคาดว่าจีนอาจนำเข้าจากสหรัฐฯ น้อยลงจากการขึ้นภาษีเพื่อตอบโต้มาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ โดยในปี 2560 จีนมีการนำเข้ากุ้งจากสหรัฐฯ มากเป็นอันดับที่ 3 มูลค่าการนำเข้า 292 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และนำเข้าจากไทยเป็นอันดับที่ 5 มูลค่าการนำเข้า 150 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ผลไม้ เป็นสินค้าที่ผู้บริโภคจีนให้ความนิยมอย่างมากและไทยมีการส่งออกไปจีนเพิ่มขึ้นทุกปี ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป เช่น ปลาทูน่าและหอยนางรมบรรจุภาชนะ สิ่งสกัดหรือน้ำคั้นจากปลา ที่ผ่านมาจีนนำเข้าจากไทยมากกว่านำเข้าจากสหรัฐฯ โดยนำเข้าจากไทยเป็นอันดับที่ 2 มูลค่า 38 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่นำเข้าจากสหรัฐฯ เป็นอันดับที่ 8 มูลค่า 4.7 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าที่คาดว่าไทยน่าจะมีโอกาสส่งออกไปกลุ่มประเทศอียูมากขึ้น แทนที่สินค้าสหรัฐฯ ที่ถูกขึ้นภาษี เช่น สินค้าข้าว ในปี 2560 อียูนำเข้าจากข้าวและข้าวหักจากสหรัฐฯ เป็นมูลค่า 182.75 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่นำเข้าจากไทยมูลค่า 170.90สินค้าธัญพืชและข้าวปรุงแต่ง ในปี 2560 อียูนำเข้าจากไทยมูลค่า 9.82 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากสหรัฐฯ มูลค่า 1.59 ล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้น การที่อียูประกาศขึ้นภาษีข้าว ธัญพืชและข้าวปรุงแต่งจากสหรัฐฯ จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ไทยสามารถส่งออกไปอียูได้เพิ่มมากขึ้นด้วย เพื่อทดแทนปริมาณการนำเข้าเดิมจากสหรัฐฯ

นายสนธิรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการหารือนี้ ภาคเอกชนได้มีข้อเสนอแนะให้ภาครัฐพิจารณาให้ความช่วยเหลือในประเด็นต่างๆ เพื่อเป็นการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน และเตรียมรับมือสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการค้าที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งเสนอให้เร่งการเจรจา FTAs เพื่อเปิดตลาดใหม่และสร้างโอกาสในการส่งออกให้แก่สินค้าไทย เช่น ความตกลงการค้าเสรีไทย-อียู เป็นต้น

นายสนธิรัตน์ เน้นย้ำว่า กระทรวงพาณิชย์จะติดตามมาตรการตอบโต้ระหว่างสหรัฐฯ จีน และประเทศต่างๆ อย่างใกล้ชิด และขอให้วางใจว่า กรมต่างๆ ในกระทรวงพาณิชย์จะทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็ง เพื่อผลักดันการส่งออกของไทยไปยังประเทศที่เป็นกลุ่มตลาดเก่าและตลาดใหม่ พร้อมทั้งเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้มาตรการทางการค้าระหว่างประเทศของมหาอำนาจในโลก โดยจะติดตามเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของปริมาณการนำเข้า ซึ่งหากเห็นว่าอุตสาหกรรมมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้ ที่ทำให้เกิดการเบี่ยงเบนทางการค้า โดยมีสินค้าเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น หรือสินค้าที่ทุ่มตลาดเข้ามา เอกชนสามารถประสานแจ้งกระทรวงพาณิชย์ให้พิจารณานำมาตรการทางการค้าที่เหมาะสมมาใช้ อาทิ มาตรการปกป้องทางการค้า มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 17 ก.ค. 2561 เวลา : 12:28:42
16-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 16, 2025, 3:07 pm