นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า กรมการขนส่งทางบกกำหนดและปรับปรุงมาตรฐานยานยนต์ตามมาตรฐานสากล อาทิ การกำหนดระยะเวลาให้นำรถเข้ารับการตรวจสภาพรถก่อนชำระภาษีรถประจำปี การกำกับดูแลให้สถานตรวจสภาพรถ (ตรอ.) ดำเนินการตรวจสภาพรถตามระเบียบและเกณฑ์สมรรถนะที่กำหนด ดังนั้น เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมมลพิษทางเสียงที่เกิดจากรถยนต์ที่มีเสียงดังเกินค่ามาตรฐาน กรมการขนส่งทางบกจึงได้ออกประกาศกรมการขนส่งทางบก กำหนดมาตรฐานระดับเสียงและวิธีการวัดระดับเสียงของรถยนต์ พ.ศ. 2561 เพื่อกำหนดวิธีการตรวจ วัดระดับเสียงที่ความเร็วรอบของเครื่องยนต์ และค่าระดับเสียงตามที่กฎหมายกำหนด โดยจะมีผลใช้บังคับกับรถยนต์ที่จดทะเบียน ตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2561 เป็นต้นไป ประกอบด้วย รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล รถยนต์รับจ้างระหว่างจังหวัด รถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน รถยนต์สี่ล้อเล็กรับจ้าง รถยนต์บริการ และรถยนต์สามล้อ ยกเว้นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว (Battery Electric Vehicles, BEV) ดังนี้ รถยนต์ทุกประเภทที่จดทะเบียนก่อนวันที่ 1 มกราคม 2557 ค่าระดับเสียงต้องไม่เกิน 100 เดซิเบลเอ
ส่วนรถยนต์ที่จดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 กรณีน้ำหนักรถเปล่าเกินกว่า 2,200 กิโลกรัม ค่าระดับเสียงต้องไม่เกิน 99 เดซิเบลเอ กรณีเป็นรถขนาดเล็กมีน้ำหนักรถเปล่าไม่เกิน 2,200 กิโลกรัม ค่าระดับเสียงต้องไม่เกิน 95 เดซิเบลเอ ยกเว้น รถยนต์สามล้อทุกคันค่าระดับเสียงต้องไม่เกิน 95 เดซิเบลเอ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานของคณะกรรมาธิการยุโรปเพื่อเศรษฐกิจแห่งสหประชาชาติ (United Nations Economic Commission for Europe : UNECE) ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือพัฒนามาตรฐานยานยนต์มาตรฐานเดียวกันทั่วโลก ส่วนรถจักรยานยนต์อยู่ระหว่างการพิจารณาให้มีความสอดคล้องกับเทคโนโลยียานยนต์ในปัจจุบัน จึงยังคงกำหนดค่าระดับเสียงเท่าเดิมคือไม่เกิน 95 เดซิเบลเอ
อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ขั้นตอนในการตรวจวัดระดับเสียงของรถยนต์ตามประกาศดังกล่าวกำหนดให้ดำเนินการตรวจวัดเมื่อเครื่องยนต์ทำงานได้ความเร็วรอบคงที่ตามที่กำหนดเท่านั้น เช่น กรณีรถยนต์สามล้อตรวจวัดที่ 3 ใน 4 ของความเร็วรอบที่ให้กำลังสูงสุดของเครื่องยนต์ ส่วนรถที่เครื่องยนต์มีความเร็วรอบให้กำลังสูงสุดไม่เกิน 5,000 รอบต่อนาที ให้ตรวจวัดที่ 3 ใน 4 ของความเร็วรอบที่ให้กำลังสูงสุด กรณีเครื่องยนต์ที่มีความเร็วรอบที่ให้กำลังสูงสุดเกินกว่า 5,000 รอบต่อนาที แต่ไม่ถึง 7,500 รอบต่อนาที ให้ตรวจวัดที่ 3,750 รอบต่อนาที กรณีเครื่องยนต์ที่มีความเร็วรอบที่ให้กำลังสูงสุดตั้งแต่ 7,500 รอบต่อนาที ให้ตรวจวัดที่ 1 ใน 2 ของความเร็วรอบที่ให้กำลังสูงสุด ดังนั้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความแม่นยำในการตรวจวัดค่าระดับเสียง กรมการขนส่งทางบกได้ซักซ้อมแนวทางปฏิบัติให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานจริง พร้อมให้สำนักงานขนส่งจังหวัดประชาสัมพันธ์และซักซ้อมแนวทางปฏิบัติให้แก่ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถ ผู้ควบคุมการตรวจสภาพรถ และเจ้าหน้าที่ตรวจสภาพรถของสถานตรวจสภาพรถ (ตรอ.) ในพื้นที่รับผิดชอบ รวมถึงประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับประชาชนเจ้าของรถ เกี่ยวกับขั้นตอนและระยะเวลาในการตรวจสภาพรถ ทั้งนี้ แนะนำให้ประชาชนเจ้าของรถใช้ท่อไอเสียที่ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และไม่ดัดแปลงอุปกรณ์ส่วนควบของรถ เพื่อป้องกันปัญหารถที่อาจมีค่าระดับเสียงดังเกินที่กฎหมายกำหนด อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวในที่สุด
ข่าวเด่น