อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อ 5ค่ายรถชั้นนำของโลก ได้ขอรับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอเพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้า
น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการ ส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บอร์ดบีโอไอ) ที่มีพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน อนุมัติค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมและแบตเตอรี่ ได้แก่ บริษัท นิสสันมอเตอร์ (ประเทศไทย) ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (Hybrid Electric VehiclesHEV ) และแบตเตอรี่รถไฟฟ้า ลงทุน 10,960 ล้านบาท ที่ จ.สมุทรปราการ ใช้วัตถุดิบในประเทศ 15,920 ล้านบาทต่อปี เป็นการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมรุ่น e-Powerเดิมมีฐานการผลิตเพียงแห่งเดียวที่ญี่ปุ่น
อีกแห่งคือบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) ผลิตรถยนต์ไฮบริด และแบตเตอรี่รถไฟฟ้า ลงทุน 5,821 ล้านบาท ที่บริษัทสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จ.พระนครศรี อยุธยา และจ.ปราจีนบุรี ใช้วัตถุดิบภายในประเทศ เช่น ล้อรถยนต์ กันชนหน้า/หลัง ฯลฯ 2,766 ล้านบาท
โดยในช่วงที่ผ่านมา บีโอไอได้มีการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในไทยตามมาตราการส่งเสริมใหม่ ที่ส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายยานยนต์แห่งอนาคต แล้วกว่า 3 ราย ได้แก่ โตโยต้า เบนซ์ และบีเอ็มดับบัลยู โดยรายแรกคือบริษัทโตโยต้า มีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 2 หมื่นล้านบาท ในโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าประเภทปลั๊กอิน-ไฮบริด ที่ผ่านความเห็นชอบของบอร์ดบีโอไอชุดใหญ่ไปแล้ว และปีหน้าจะเห็นรถยนต์รุ่นใหม่ของโตโยต้าที่ผลิตในไทยซึ่งอยู่ระหว่างปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี
ขณะที่โครงการของบีเอ็มดับเบิลยูและเบนซ์ มีขนาดการลงทุนไม่เกิน 2 พันล้านบาท จึงผ่านการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากคณะอนุกรรมการบีโอไอได้ โดยไม่ต้องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการชุดใหญ่
โดยค่ายรถยนต์ทั้ง 5 ราย ที่ยื่นขอส่งเสริมการลงทุนเลือกที่จะลงทุนเกี่ยวกับแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า จะมีการลงทุนทั้งรูปแบบของการผลิตตัวแบตเตอรี่และเซลล์ไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นส่วนที่รองรับการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต
น.ส.ดวงใจ กล่าวว่า ตอนนี้มีสัญญาณที่ดีของการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยที่จะลงทุนและพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ระยะยาวในประเทศไทย เพราะตามเงื่อนไขที่บีโอไอกำหนดคือเอกชนที่ขอส่งเสริมการลงทุนจาก บีโอไอจะต้องมีการลงทุน ต้องมีการผลิตชิ้นส่วนสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้าอย่างใดอย่างหนึ่งจาก 13 รายการที่กำหนดไว้ภายใน 3 ปี หลังจากได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนในไทย เพื่อให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องและการถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ในประเทศไทย และในส่วนของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าจะได้รับภาษีสรรพสามิตอัตราพิเศษ 50% คือลดจาก 8% เหลือ 4% โดยทั้ง 5 ราย ที่ยื่นขอส่งเสริมการลงทุนเลือกที่จะลงทุนเกี่ยวกับแบตเตอรี่ ซึ่งจะเป็นส่วนที่รองรับการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต
ด้านนายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ขณะนี้ค่ายรถยนต์ต่างๆ เริ่มมีการเปลี่ยนเทคโนโลยีไปให้ความสำคัญกับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น โดยส่วนสำคัญของการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าคือแบตเตอรี่ ซึ่งปัจจุบันยังมีราคาแพง มีขนาดใหญ่ และน้ำหนักมาก ซึ่งรัฐบาลจะสนับสนุนให้มีการพัฒนาแบตเตอรี่ลิเทียม ไอออนครบวงจร ซึ่งจะพัฒนาตั้งแต่เซลล์แบตเตอรี่ไปจนถึงการประกอบแบตเตอรี่ในการทำแล็บทดลองและวิจัยเรื่องนี้ในประเทศไทย ซึ่งเบื้องต้นได้หารือกับโตโยต้าแล้ว คาดว่าจะเห็นได้ใน 2-3 ปีนี้
ข่าวเด่น